เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ไร้โรค (เบาหวาน) ในวันหน้า


      แม้ว่าอายุเป็นจะเพียงตัวเลข  แต่หากดูแลตนเองไม่เหมาะสมพอ  จะตัวเลขมากหรือตัวเลขน้อยซึ่งกลุ่มของเด็กหากยังไม่ให้ความสำคัญยังไม่เริ่มปลูกฝังในเรื่องของสุขภาพแล้วโรคก็จะอยู่ใกล้แค่เอื้อมมือ   ดังนั้น  ในครั้งนี้จึงถือโอกาสมาร่วมพูดคุยกับนางสาวฐานิตา ตระกูลเอี่ยมเจริญ  นักวิชาการโภชนาการ  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จะมาช่วยให้คำแนะนำในการดูแลตนเองโดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกินเพื่อไม่ให้เสี่ยงกับโรคเบาหวาน….ลุย!!!

ในเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวาน เราต้องในความสำคัญตรงนี้อย่างไรบ้าง ?

      “เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือไม่มีโรคประจำตัวเราก็ต้องป้องกัน เช่น ลดหวาน ลดมัน ลดโซเดียมหรือเค็ม แต่หากคนไข้เป็นเบาหวานก็ต้องลดน้ำตาล เพราะบางคนจะไม่รู้ตัวว่ารับประทานน้ำตาลมากเกินไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น  นมเปรี้ยว อาจจะเข้าใจว่าไม่มีน้ำตาลแต่จริงๆ แล้วมีสูงมาก แม้กระทั่ง
นมจืดเองก็มีน้ำตาลอยู่แล้ว เป็นข้อมูลในการเลือกบริโภคเพื่อป้องกัน หรือผู้ที่เป็นเบาหวานก็สามารถเลือกรับประทานได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาหรือ 30 กรัม ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะว่าเราจะรับประทานข้าว หรือ ผักประเภทหัว เช่น ฟักทอง แครอท พวกนี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล แล้วหากทานขนมหวาน หรือ น้ำอัดลม ซึ่งก็จะได้น้ำตาลเกินไปเยอะมาก ในอาหาร 5 หมู่

      ถ้าเป็นอาหารแลกเปลี่ยนเราจะแยกออกมาเป็น 6 หมวด จะแยกนมออกมาจากเนื้อสัตว์ ซึ่งอาหารที่มีผลต่อระดับน้ำตาล เช่น  ข้าว แนะนำให้รับประทานข้าวกล้องที่มีใยอาหารทำให้น้ำตาลขึ้นช้า หากรับประทาน ข้าวโพด เผือก มัน หรือขนมปัง  เราก็จะแนะนำว่าหากทานอาหารจำพวกนี้จะได้รับอะไรบ้าง หรือหากกินฟักทอง ซึ่งเป็นผักประเภทหัว ก็จะได้รับแป้งเป็นจำนวนมากเช่นกัน แม้กระทั่งผลไม้บางคนคิดว่ากินเพื่อลดน้ำหนักซึ่งในผลไม้ก็มีน้ำตาลสูงเช่นกัน ผลไม้ที่แนะนำก็คือ แอปเปิ้ล ฝรั่ง ส้มโอ ที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ทุเรียน น้อยหน่า เงาะ มังคุด องุ่น แต่ต้องดูที่ปริมาณการกินอีกที”

ดูเหมือนว่าผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว จำเป็นต้องจำกัดอาหาร จะบอกอย่างไรดีเพื่อไม่ใช้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ลำบากในการใช้ชีวิต ?

      “อันดับแรก ก็คือ ตัดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ควรเลือกดื่มนมจืดไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง หรือน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงการทานขนมหวานที่มีน้ำตาลสูงและกะทิ เท่านี้ก็ตัดได้เยอะแล้ว ทานข้าวเปล่าแต่พอเหมาะเลือกกับข้าวที่ไม่มีกะทิ เลี่ยงของทอดของมันๆ ควรทานแกงส้มแกงเลียง ต้มยำน้ำใส ผัดผักโดยใช้น้ำมันเล็กน้อย อาหารว่างก็ควรจะเป็นผลไม้หวานน้อย ปัญหาที่พบมากก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากินเกิน เช่น กินผลไม้เช่นส้ม สับปะรด โดยคิดว่าเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน หรือแม้กระทั่งน้ำผลไม้ปั่นที่มีส่วนประกอบน้ำตาลสูงมาก ทำให้ทานน้ำตาลเกินโดยไม่รู้ตัว จำเป็นได้รับคำแนะนำจากนักโภชนาการ”

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานส่วนมากจะเป็นคนกลุ่มอายุประมาณเท่าใด ?

      “ส่วนใหญ่ที่มาพบหมอ นักโภชนาการ จะอายุประมาณ 40 – 50 ปี ถ้าต่ำสุดก็อายุประมาณ 35 ปีก็พบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้วก็มี จากที่ซักประวัติจะพบว่าเป็นจากกรรมพันธุ์ จากพ่อแม่ หรือบางคนไม่เป็น
แต่มีพฤติกรรมทานเยอะก็เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกิน ประกอบกับสมัยนี้จะเห็นว่ามีอาหารชาติตะวันตกเยอะ เบเกอรี่ เครื่องดื่ม น้ำหวานต่างๆ”

ต้องยอมรับว่า บางทีเห็นกลุ่มวัยรุ่นปัจจุบันนิยมถือแก้วน้ำดื่ม น้ำหวาน รู้สึกกังวลกับพฤติกรรมการกิน
มากน้อยเพียงใด
?

      “รู้สึกกังวลมาก  ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่นมีการกินเป็นวัฒนธรรม กินตามกระแส คิดว่ากินได้เยอะ
สบายมาก โดยลืมคิดไปว่าตนอาจจะมีภาวะการดึงน้ำตาลไม่ดี ทำให้เป็นเบาหวานกันเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นจะต้องพยายามปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้โรค”

ถ้าอย่างนั้น  จำเป็นที่ต้องกำหนดหรือไม่ว่า เราควรบริโภคต่อวันเท่าใด ?

      “อย่างน้อยถ้าติดหวานจริงๆ อยากกินอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า เราก็จะแนะนำให้เป็นน้ำผลไม้ปั่น
แต่ขอควบคุมความหวาน ใส่น้ำเชื่อมให้น้อยที่สุด หรือหลีกเลี่ยงครีมเทียม กาแฟ 3in1 ชานม หรือนมข้น
อาจจะดื่มชามะนาว หรือชาดำ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้แทน จากที่เคยดื่มทุกวันก็เปลี่ยนเป็น วันเว้นวัน
สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนค่อยๆ ห่างออกไป

ขอฝากไว้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น อยากให้เห็นความสำคัญของสุขภาพจากการรับประทานอาหาร เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรค หรือคุณพ่อคุณแม่เมื่อดูแลตัวเองแล้ว ก็อยากจะให้ดูแลลูกๆ
ของท่านด้วยเพราะจะยังไม่มีความรู้ในเรื่องของอาหารที่รับประทาน  อย่าปลูกฝังให้เด็กรับประทาน
ขนมกรุบกรอบ หากเด็กน้อยได้รับการปลูกฝังและได้รับคำแนะนำที่ดีก็ส่งผลต่อสุขภาพของเขาเองและเติบโต
เป็นผู้ใหญ่ที่ไร้โรคต่อไปในอนาคต”

รู้อย่างนี้แล้ว….วันนี้เลยป่ะล่ะ!!!  มาหาอะไรที่มีประโยชน์กับสุขภาพกินกัน ^^

————————————————–

ขอขอบคุณผู้ร่วมพูดคุย :
นางสาวฐานิตา ตระกูลเอี่ยมเจริญ  นักวิชาการโภชนาการ
คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon