นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการและประธานคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคสุกใสที่พบในโรงพยาบาลขณะนี้อยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังและคอยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อลงไปสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง ส่วนระดับความรุนแรงของโรคอาจจะไม่ถึงขั้นรุนแรงสามารถควบคุมโรคได้และมีนโยบายในเรื่องของการป้องกันโรคอยู่เสมอ
“สถิติปัจจุบันของกระทรวงสาธารณสุขที่รวบรวมไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยรวมแล้วพบคนไข้ทั่วประเทศกว่า 8,000 ราย ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ ปัจจุบันพบคนไข้ที่เป็นบุคลากรในโรงพยาบาลเองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียง3 ราย ทั้งนี้ ในผู้ป่วย 3 รายที่พบ คนที่ 1 เป็นพนักงานของร้านสะดวกซื้อในบริเวณโรงพยาบาลซึ่งไม่ใช่บุคลากรของโรงพยาบาลโดยตรง รายที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่แม่บ้านของโรงพยาบาล รายที่ 3 เป็นนิสิตแพทย์ ซึ่งจะเห็นว่าถึงแม้เราจะมีมาตรการที่ค่อนข้างจะเข้มงวดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีกรณีที่เกิดการหลุดรอดหรือการระบาดเกิดขึ้oเป็นระยะๆ ตอนนี้ทางโรงพยาบาลพยายามดูแลอย่างเต็มที่ รวมถึงได้ตรวจพบจากบุคลภายนอกที่เข้ามาตรวจที่อยู่ในชุมชนบริเวณใกล้เคียง ในช่วงที่ผ่านมาพบอีก 5 ราย โดยสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง ตัวเลขตรงนี้เรียกว่าเป็นตัวเลขที่จะต้องเฝ้าระวังและคอยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อลงไปสอบสวนและควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างมากกว่านี้ ส่วนระดับความรุนแรงของโรคอาจจะไม่ถึงขนาดขั้นรุนแรงอยู่ในพิสัยที่สามารถควบคุมโรคได้
สำหรับการดำเนินการภายในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น ทางโรงพยาบาลมีนโยบายในเรื่องของการป้องกันโรคอยู่เสมอ ซึ่งพบโรคเมื่อประมาณ 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกรายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หน้างานที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใส และเจ้าหน้าที่ใหม่จะต้องได้รับการตรวจภูมิต้านทานว่ามีภูมิต้านทานต่อโรคสุกใสหรือยัง หากยังไม่มีภูมิต้านทานทางโรงพยาบาลก็มีการให้วัคซีนสร้างภูมิต้านทานให้แก่เจ้าหน้าที่ก็จะส่งผลดีกับผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่ต้องไปดูแลผู้ป่วยด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดในวงแคบ รวมถึงการให้วัคซีนกับนิสิตแพทย์ซึ่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรใช้มาตรการนี้มาอย่างต่อเนื่องมา 3 – 5 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นกล่าวคือ ยังคงตรวจพบผู้ป่วยจากภายนอกที่เข้ามาภายในโรงพยาบาล เบื้องต้นตอนนี้ได้สำรวจผู้ป่วยที่เป็นโรคสุกใสแล้ว และได้ให้เจ้าหน้าที่กลุ่มควบคุมโรคเข้าไปดูแลแล้ว ด้วยมาตรการในการให้ยาสำหรับรักษาและป้องกันบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นผู้ป่วยโรคสุกใส สำหรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ภายนอกเองก็ได้ติดต่อประสานงานกับทางหน่วยระบาดออกไปสอบสวนโรคว่ามีการระบาดในชุมชนหรือไม่ และจะมีขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อควบคุมโรคต่อไป”
นายแพทย์สุรัตน์ ได้กล่าวถึงข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า หากพบผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษาด้วยโรคสุกใสในโรงพยาบาล 1 รายแล้ว ทางการแพทย์มีความเชื่อว่าจะมีผู้ป่วยในชุมชนที่อาการยังไม่รุนแรงและยังไม่ได้เข้ามาสู่การรักษาไม่ต่ำกว่า 5 ราย
“โดยธรรมชาติของโรคของสุกใส หากมีผู้ป่วยที่เดินเข้ามาตรวจกับแพทย์แล้ว 1 รายแล้ว จะมีความเชื่อว่ายังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่อาการยังไม่มาก อาจจะยังไม่ได้เข้ามารับการตรวจกับโรงพยาบาล ดังนั้น ถ้ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นแล้วส่วนใหญ่จะมีผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 – 5 รายและจากการที่มีคนเข้ามาตรวจในช่วงนี้ค่อนข้างบ่อยจึงกังวลว่าน่าจะเกิดปัญหาการระบาดขึ้นแล้วหรือไม่ในชุมชน
โรคสุกใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส การแพร่กระจายของโรคหลักๆ แล้วจะเกิดขึ้นได้ 2 ทาง ก็คือ ทางที่ 1.การแพร่กระจายโดยละอองฝอย เชื้อจะปะปนอยู่ในละอองฝอยหรือในเวลาผู้ป่วยไอจามออกมาจะมีละอองฝอยที่ปนไวรัสออกมา ดังนั้น การที่บอกว่าสุกใสสามารถติดกันง่ายนั้น ก็เนื่องมาจากว่าเป็นการติดต่อทางอากาศคล้ายๆ กับโรคหวัด การไอมีละอองฝอยออกมาก็มีบุคคลไปสัมผัสหายใจเอาละอองฝอยเข้าไปก็ทำให้รับเชื้อเข้าไป เพราะฉะนั้นก็ติดต่อกันง่าย ทางที่ 2. การสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในขณะที่เริ่มมีตุ่มขึ้นตามร่างกายหากเราไปสัมผัสโดยตรงโดนสารคัดหลั่ง บริเวณตุ่มนั้นแล้วก็จะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่จะทำให้ติดต่อได้เช่นเดียวกัน โดยปกติมักจะระบาดในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กยังไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคสุกใสมาก่อน และเด็กเล็กมักจะมีพฤติกรรมที่ใกล้ชิดกันเยอะก็จะมีความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ อีกกลุ่มที่น่าสนใจก็คือปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคสุกใสในผู้ใหญ่มีมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนเราเชื่อว่าเป็นโรคสุกใสเป็นแล้วจะไม่เกิดซ้ำ แต่ปัจจุบันเราพบข้อมูลว่าการเกิดโรคสุกใสในผู้ใหญ่กลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าระบบสาธารณสุขควบคุมโรคสุกใสได้ดี มันจะทำให้ภูมิต้านทานที่เราเคยมีในตอนเด็กอาจจะถดถอยหรือหายไปเมื่อโตขึ้น
ทั้งนี้ ยังไม่ต้องถึงกับตื่นตระหนก เพราะโรคสุกใสเป็นโรคที่เราพบในบ้านเราเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องระมัดระวังถ้าเกิดว่าเราพบผู้ป่วยโรคสุกใส หรือแม้แต่คนในบ้านเราเองเป็นโรคสุกใสเราอาจจะต้องรีบพามาพบแพทย์ แล้วตัวคนที่อยู่ในบ้านร่วมกันอาจจะต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ได้รับวิธีป้องกันที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์เอง เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องสัมผัสโรคโดยตรง จะต้องเจอผู้ป่วยสุกใสอยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่เองจะต้องมีการดูแลตัวเองให้แข็งแรงแล้วจะต้องส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคสุกใสไม่ว่าจะด้วยการฉีดวัคซีนทางใดทางหนึ่ง จะช่วยให้เรามีภูมิต้านทานต่อโรคสุกใสและจะทำให้เราดูแลคนไข้ได้ แล้วไม่นำโรคนั้นไปแพร่กระจายให้คนไข้
รายอื่นๆ” นายแพทย์สุรัตน์ กล่าวฝากทิ้งท้าย
—————————————-