แพทย์ ม.นเรศวร เผยทุกคนมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เน้นปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

      แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  เผยคนทั่วไปมีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานโดยเฉพาะคนอายุที่มากขึ้น แนะนำประชาชนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงการรับประทานอาหาร  เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน

      แพทย์หญิงแพรว  สุวรรณศรีสุข  อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์  สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร   เล่าให้ฟังว่า  โรคเบาหวานยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตจนนำไปสู่ความเสี่ยงของการเสียชีวิตตามมา

      “ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานมากขึ้น ประมาณ 600 ล้านคน เฉลี่ยประมาณ 10% แต่คิดเป็นคนไทยภายในประเทศ ประมาณ 8% ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร รวมถึงภาวะอ้วนลงพุงที่เจอมากขึ้น”

      แพทย์หญิงแพรว  ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตนเองหากรู้ว่าเป็นโรคเบาหวานควรเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  หากยังไม่ดีขึ้นก็จะเพิ่มเติมที่การรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์

      “ทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลจะมีการแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  เช่น  ให้ความรู้เรื่องของการรับประทานอาหารที่ถูกต้องโดยทีมโภชนากร รวมถึงสอนวิธีออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การเดินขึ้นบันได หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้มีเหงื่อออกมากขึ้น หากยังควบคุมน้ำตาลไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็แนะนำในเรื่องของการรับประทานยา ถ้ามีน้ำตาลในเลือดสูงมากจะแนะนำการฉีดอินซูลิน เพื่อที่จะลดระดับน้ำตาลที่เร็วขึ้น”

      อย่างไรก็ตาม  แม้โรคเบาหวานจะมีแนวโน้มเกิดกับคนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นแต่อย่ากังวลกับโรคมากจนเกินไปเพราะสามารถที่จะดูแลรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่เทียบเท่ากับคนปกติได้

      “จริงๆ โรคเบาหวานไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเราตรวจเจอเร็วก็จะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ค่อนข้างเร็วเทียบเท่ากับคนปกติเลย ซึ่งถ้าลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วก็จะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในกลุ่มหลอดเลือดเล็ก เช่น  เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต เบาหวานที่ลงปลายประสาทเท้าที่ทำให้เกิดอาการชา เป็นข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วของคนในกลุ่มของหลอดเลือดเล็ก ก็จะลดภาวการณ์เกิดโรคเหล่านี้ได้”

      สำหรับการใช้ยารักษานั้น  แพทย์จะเป็นผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดและจะมีการปรับสูตรยาให้มีความเหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาให้ได้มากที่สุด

      “ยาเบาหวานชนิดรับประทาน จริงๆ แล้วมีหลากหลายชนิด ปกติแพทย์ก็จะเลือกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมผู้ป่วย ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีผลข้างเคียงแพทย์ก็จะแนะนำผู้ป่วยก่อนเสมอว่า หากรับประทานแล้วมีปัญหาอย่างไร หรือปรับเปลี่ยนแล้วรู้สึกไม่ดีขึ้น ต้องมาพบแพทย์ เนื่องจากยามีหลากหลายชนิด  แพทย์และผู้ป่วยจะได้ช่วยกันตัดสินใจเลือกยา และค่อยๆ ปรับจนได้สูตรยาที่เหมาะกับคนไข้ในแต่ละราย เพื่อที่จะควบคุมระดับน้ำตาลได้และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

      แนวทางการป้องกัน คือ  เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง แนะนำให้ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้ป้องกันและรักษาได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเบาหวานก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”  แพทย์หญิงแพรว  สุวรรณศรีสุข  อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์  สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  กล่าวฝากทิ้งท้าย

————————————————–

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ :
แพทย์หญิงแพรว  สุวรรณศรีสุข  อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์
สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon