หลังจากที่ สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดมหกรรมวิชาการกลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยฯ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2560 ซึ่งภายในงานมหกรรมดังกล่าว มีโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายซึ่งหนึ่งในนั้นมีโครงการจัดการขยะเพื่อชุมชนและนำเสนอผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากขยะ สำหรับนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน ชั้นปีที่ 4 โดยจัดขึ้นที่อาคารเพราพิลาส ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร ในช่วงที่ผ่านมา ถือได้ว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนที่กำลังเดินหน้าไปพร้อมกับนโยบายของรัฐบาลที่พยายามหาหนทางในการลดปัญหาปริมาณขยะ รวมถึงทิศทางของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
อาจารย์สุดาวดี ยะสะกะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่มุ่งมาที่เรื่องของขยะ สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลมองว่าประเทศไทยมีขยะเพิ่มขึ้นทุกปี และต้องมีการผลักดันเพื่อนำไปสู่การลดขยะที่กำลังล้นเมืองให้ลดปริมาณให้ได้มากที่สุด โดยในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนนั้นก็พยายามรณรงค์ให้ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยในการที่จะให้นิสิตมีการใช้ขยะให้น้อยที่สุดและทิ้งให้ถูกประเภทด้วย เพื่อให้ง่ายในขั้นตอนของการจัดการขยะ ซึ่งขยะบางประเภทสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
“การนำเสนอโครงการฯ มีนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชนที่เรียนในรายวิชาการจัดการขยะและของเสียอันตรายได้มีการทำโครงการเกี่ยวกับขยะที่จะมาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยได้มีการไปรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องของการทิ้งขยะ และนำขยะรีไซเคิลไปขาย นิสิตบางกลุ่มทำโครงการ waste to tree เขานำเงินที่ได้จากการขายขยะไปซื้อต้นไม้มาปรับทัศนียภาพให้กับคณะสาธารณสุขศาสตร์ ส่วนนิสิตอีกโครงการหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กที่อำเภอพรหมพิราม ซึ่งขยะที่ขายได้ก็เยอะพอสมควร โดยที่นิสิตก็ไปทำกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านขยะ การแยกประเภทของขยะชนิดต่างๆ รวมถึงการจัดการกลุ่มของพลาสติกและโฟม เพราะข้อมูลเบื้องต้นจากที่ได้ไปสอบถามมาพบว่าการคัดแยกขยะยังไม่ถูกประเภทและยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับโฟม พลาสติก ทางนิสิตจึงได้มีโอกาสไปให้ความรู้เรื่องดังกล่าว
สำหรับขยะที่พบในมหาวิทยาลัยเราจะเป็นขยะกลุ่มพลาสติก โดยที่ขยะกลุ่มพลาสติกนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายประเภทหากเรามีการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทาง ต้นทางในที่นี้ก็คือ จากแต่ละคณะจะต้องทิ้งขยะให้ถูกประเภท จากที่พบยังคงทิ้งขยะรวมกันหมดถึงแม้จะมีถังแยกอยู่ ดังนั้น จึงพยายามที่จะรณรงค์ในส่วนของการคัดแยกขยะให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำขยะที่เราคัดแยกได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งก็มีนิสิตบางกลุ่มสามารถนำเอาเศษอาหารไปให้กับผู้ที่รับซื้อ หรือว่าเป็นการนำไปใช้ในส่วนของการเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำน้ำหมัก EM ที่ทำอยู่ในคณะสาธารณสุขเองก็สามารถนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านหรือผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้ เราก็จะพยายามผลักดันให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
ขยะสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ถือว่าเป็นงาน Hand made อย่างหนึ่ง เราก็พยายามทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม ซึ่งในโอกาสต่อไปข้างหน้าอาจจะต้องมีการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในการออกแบบของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เพื่อทำให้การออกแบบมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางผู้สอนเองก็บอกกับนิสิตว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการผลักดันเกี่ยวกับงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยหรือโครงการต่างๆ ที่เราทำถือว่าเป็นงานที่ดีอย่างหนึ่ง กล่าวคือ จากที่ตั้งต้นเราไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อได้ทำไปเรื่อยๆ จนทำให้สิ่งที่เราทำนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำให้นิสิตเข้าใจและเกิดความภาคภูมิใจจากสิ่งที่ตนเองได้ทำขึ้นมา เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ซึ่งไม่ได้เก็บอยู่แค่ตนเองคนเดียว แต่สามารถจะทำให้คนอื่นได้รู้ด้วยว่า งานวิจัยที่เราทำหรือโครงการที่เราทำมีอะไรบ้างและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร และงานวิจัยบางอย่างก็อาจจะสามารถช่วยจุดประกายความคิดและอาจจะช่วยกระตุ้นให้มีแนวคิดทางบวกมากยิ่งขึ้น โลกของเรามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆและของเสียก็มีค่อนข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราเป็นหนึ่งในนักอนามัยสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเรื่องของการเรียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราอยากประกาศให้รู้ว่าเรามีดี มีสิ่งที่น่าค้นหา” อาจารย์สุดาวดี ยะสะกะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
————————————————–
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก :
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ :
อาจารย์สุดาวดี ยะสะกะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร