จากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ Facebook ต้องยอมรับว่ามีความรวดเร็วและมีผลตอบรับกลับมาทั้งด้านบวกและด้านลบ แม้กระทั่งในวงการแพทย์เองยังคงมีการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วยที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ป่วยตามมาได้
อาจารย์นายแพทย์มาโนช โชคแจ่มใส ตัวแทนทีมวิทยากรที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ใช้ Social media อย่างไรถึงจะไม่ผิด?” จากงานจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 10 สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า Social Media เป็นโลกใบใหม่ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับโรงเรียนแพทย์ ราชวิทยาลัย หรือ สมาคมต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญในการออกกฎกติกามารยาทให้เป็นกฎเฉพาะกลุ่ม เพราะบางเรื่องกฎหมายยังไปไม่ถึง
“สำหรับวงการแพทย์เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย ในลักษณะที่ผู้ป่วยอาจจะเกิดความเสียหาย หรือผู้ป่วยที่ไม่ต้องการให้ข้อมูลของตัวเองเป็นที่รู้จักโดยแพร่หลาย กล่าวคือ ผู้ป่วยอยากให้เป็นความลับอยู่ และในอีกมุมหนึ่งการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วยอาจจะออกมาในรูปแบบของการโฆษณาของตัวแพทย์เองว่าสามารถทำสิ่งนี้สิ่งนั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับของแพทยสภา ซึ่งแพทย์บางคนก็ไม่ทราบในส่วนนี้
ปัญหาเกี่ยวกับ Social Media คือ มันเป็นโลกใบใหม่ โรงเรียนแพทย์ส่วนมากยังไม่ได้สอนถึงตรงส่วนนั้น เพียงแค่สอนถึงโลกปัจจุบัน เพราะฉะนั้นแพทย์ส่วนมากก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งไม่ถูกต้องบนโลกออนไลน์ และสิ่งที่เราเห็นจากสื่อ จาก Social Media บ่อยๆ ทำให้แพทย์คิดว่าสิ่งนั้นทำได้ อย่างเช่น Facebook ปัจจุบันนี้การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย หรือ การเผยแพร่ความสามารถของแพทย์คนนั้นคนนี้ ซึ่งมักจะผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม หรือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพียงแต่ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อเราเห็นผ่านตาบ่อยๆ ก็คิดเอาเองว่าสามารถทำได้หรือเผยแพร่ได้ และแพทย์รุ่นใหม่เองก็นึกคิดเองว่าทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก
ในเบื้องต้น สิ่งที่เผยแพร่ไปจะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น กฎหมายจะเริ่มก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ถ้าภาพที่นำเผยแพร่ไปไม่เกิดความเสียหายโดยทั่วไปก็ไม่ผิด แต่ในเชิงจริยธรรมจะมองว่า ร่างกายของคนไข้เป็นของคนไข้ ไม่ว่าจะเผยแพร่ในกรณีใดคนไข้ควรจะรับรู้ และคนไข้อนุญาตก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เลยมีสองมุม คือในมุมของกฎหมาย และมุมของจริยธรรม
จริงๆ แล้วระดับโรงเรียนแพทย์จำเป็นต้องมีเรื่องนี้ให้ชัดเจนสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ ราชวิทยาลัย หรือ สมาคมต่างๆ ควรจะออกกฎกติกามารยาทของตัวเองออกมาให้เป็นกฎเฉพาะกลุ่ม เพราะบางเรื่องกฎหมายไปไม่ถึง อย่างน้อยถ้ามีกฎกติกามารยาทเฉพาะกลุ่มที่คอยควบคุมเอาไว้เพื่อไม่ให้ภาพของวิชาชีพดูแย่” อาจารย์นายแพทย์มาโนช กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์นายแพทย์มาโนช กล่าวถึงกระแสของข้อมูลสุขภาพที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ปัจจุบันอีกว่ายังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะควบคุมข้อมูลในการนำเสนอค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะช่วยต่อสู้กับข้อมูลสุขภาพเหล่านั้นได้คือการทำให้ประชาชนกล้าที่จะตรวจสอบข้อมูล เช่น การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงองค์กรหน่วยงานต่างๆ ต้องแสดงบทบาทในการให้ข้อมูลกับประชาชนด้วยเช่นกัน
“ในเรื่องของข้อมูลสุขภาพที่แพร่หลายไปในโลกออนไลน์ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าข้อมูลจริงบ้างไม่จริงบ้าง โดยส่วนตัวผมแล้วมองว่าค่อนข้างจะควบคุมได้ยาก สิ่งที่เราจะช่วยได้คือให้ประชาชนกล้าที่จะตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น คือ ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะการที่จะมีองค์กรคอยนั่งดูตรวจสอบ และคอยตามลบข้อมูลที่เป็นเท็จแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นโยบายน่าจะเปลี่ยนเป็นทำยังไงให้ประชาชนมีความเฉลียวใจ ตรวจสอบทุกข้อมูลก่อนที่จะหลงเชื่อ การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็จะวนมาที่บทบาทของสมาคม องค์กร ที่รวมคนที่มีความรู้ความสามารถควรจะมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และต้องคอยตามโลกออนไลน์ เช่น Socail medie กำลังพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นกระแส ตัวองค์กร ก็ต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลที่เป็นจริงเป็นอย่างไร และตัวประชาชนเองก็ต้องมีข้อมูลอยู่บ้าง เพราะจะให้องค์กรไปตามลบข้อมูลที่เป็นเท็จก็ไม่ไหวเพราะเยอะมาก” นายแพทย์มาโนช กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : อาจารย์นายแพทย์มาโนช โชคแจ่มใส ตัวแทนทีมวิทยากรที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ใช้ Social media อย่างไรถึงจะไม่ผิด?” งานจัดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 10 สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก : สถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวร NU Cleft & Craniofacial Center