จุดเริ่มต้นของงานวิจัย สู่เครือข่ายความร่วมมือ พัฒนาหลักสูตรฟิสิกส์การแพทย์ และรังสีวิทยา คณะสหเวชฯ ม.นเรศวร


     เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมทำการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ และมีผู้บริหาร บุคลากร ได้ให้เกียรติร่วมเป็นพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ด้วย

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี คณบดีคณะสหเวชศาสตร์  เล่าให้ฟังว่า  จุดเริ่มต้นของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดังกล่าวนี้มาจากการทำงานวิจัยและมีการพูดคุยร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับอาจารย์ของคณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

     “เริ่มต้นเกิดจากความร่วมมือทางด้านงานวิจัยก่อน โดยทางคณะสหเวชศาสตร์เองก็มีอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย ได้ไปทำงานวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แล้วก็มีการพูดคุยกันเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทขึ้น เป็นหลักสูตรฟิสิกส์การแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ต้องการที่จะร่วมพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาควิชารังสีเทคนิค  คณะสหเวชศาสตร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาปี 2557 จึงเกิดหลักสูตรฟิสิกส์การแพทย์ขึ้น แล้วก็มีความร่วมมือกันในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน แล้วก็มีงานวิจัยร่วมกันมาตลอด หลังจากนั้นพอทำได้สักระยะหนึ่ง จึงได้เกิดการร่วมมือกันแล้วก็ทำ MOU ร่วมกัน ในการที่จะพัฒนาการเรียน การสอนรวมถึงพัฒนางานวิจัยให้มีความทันสมัยทันยุคมากขึ้น

     จากการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ทำให้นิสิตได้มีโอกาสเข้าไปเรียนที่นั่น เรียนกับอาจารย์ที่นั่นเลยและสามารถเข้าฝึกปฏิบัติงาน  ฝึกกับคนไข้จริง ได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยอย่างเต็มที่ รวมถึงอาจารย์ของเรายังได้ไปฝึกปฏิบัติทักษะทางวิชาชีพด้วยได้ไปทำงานทางฟิสิกส์การแพทย์ แล้วก็ได้ไปทำงานทางด้านรังสีเทคนิคด้วย ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้วก็อาจารย์เราก็มีความรู้ทางด้านวิชาการ งานวิชาการของเราก็เยอะ ทำให้มีงานวิจัยเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ด้วย และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีก็คือศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รับเข้าไปทำงาน และได้เป็นอาจารย์ที่นั่นด้วย

     อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ยังขาดก็คือเรื่องของการบริการวิชาการ ตรงนี้เราก็เตรียมคิดไว้แล้วเหมือนกันว่าในอนาคตเราอาจจะต้องมีการจัดบริการวิชาการ ประชาชนในเขตภาคเหนือ ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ทำนำร่องไว้บ้างแล้วที่จังหวัดน่าน สำหรับพิษณุโลกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เขาก็ได้คิดไว้เหมือนกันว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรน่าจะให้บริการร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เช่นกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : ผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี คณบดีคณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร
ขอขอบคุณภาพจาก : Facebook คณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

—————————————-

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon