เด็กเด็ดเด็ด..โขนเด็กมัธยมสาธิตม.นเรศวร ร่วมอนุรักษ์ศิลปะชั้นสูงของไทย

     “การจัดแสดงโขนไม่ใช่เรื่องง่าย คณะครูผู้เชี่ยวชาญการโขน ศิลปินแห่งชาติ ผู้แสดงและผู้จัดการแสดง ต่างก็ทุ่มเทฝีมือความคิดและแรงกายแรงใจอย่างสุดกำลัง ทำให้โขนออกมาสนุก ตื่นเต้นและสวยงามมาก มีฉากที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่ เป็นที่ประทับใจคนดู เช่น ฉากหนุมานอมพลับพลา เป็นต้น ทุกครั้งที่จัดการแสดงโขน คณะกรรมการจะคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่มาเป็นผู้แสดงร่วม เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาฝึกฝนศิลปะการแสดงชั้นยอดของไทยจากปรมาจารย์โดยตรง เมืองไทยจะได้มีนักแสดง ฝีมือดี สืบทอดวิชาต่อไป”

     พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2554 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

     จากพระราชดำรัสนี้เองจึงเป็นที่มาให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสได้ชมโขนพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นศิลปะ วัฒนธรรมไทย ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักโขนอย่างถูกต้องตามแบบโบราณ

     โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการแสดงโขนตามพระเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9  เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์ประเดิมศึก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมสืบสานและอนุรักษ์การแสดงโขนอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยพร้อมทั้งเข้าใจถึงหลักการและวิธีในการฝึกหัดโขน ซึ่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ศิษย์เก่า และคณาจารย์รวมกว่า 60 ชีวิต ได้เข้าร่วมฝึกทักษะการแสดงโขนและเสริมสร้างประสบการณ์ทางการแสดงกับวิทยากรจากวิทยาลัยนาฎศิลป์สุโขทัย

     สำหรับการแสดงโขนในครั้งนี้ได้นำ “รามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์ประเดิมศึก” มาจัดแสดง มีเนื้อเรื่องโดยย่อว่า ทศกัณฐ์ เจ้าพระนครลงกาหลังจากได้ให้เพื่อนสนิทมิตรสหาย ญาติพี่น้องของตนเองออกช่วยราชการศึกออกรบจนถึงแก่ความตายไปหลายตน จนสุดท้ายบุตรชาย คือ อินทรชิต ออกรบเป็นตนสุดท้าย ก็ถูกพระรามแผลงศรถึงกับสิ้นชีพในสนามรบ ทศกัณฐ์ได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วไม่เห็นใครที่จะช่วยราชการศึกในครั้งนี้ได้อีกต่อไปจึงจำเป็นที่จะต้องออกรบด้วยตนเอง ทศกัณฐ์ได้ยกทัพออกต่อสู้กับกองทัพพระราม การรบของสองฝ่ายเต็มไปด้วยชั้นเชิงในการต่อสู้ของกระบวนการรบอย่างสดความสามารถ หลังจากสู้รบกันมาทั้งวันไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้ ทศกัณฐ์จึงขออย่าศึกยกทัพกลับเข้าพระนครลงกา ไว้วันพรุ่งนี้จึงจะยกทัพออกมาต่อสู้กันใหม่

 

     ด้าน อาจารย์ธนะษิณ อินพาเพียร อาจารย์ผู้ควบคุมและฝึกซ้อมการแสดง กล่าวว่าเหตุที่เลือกการแสดงโขนในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์ประเดิมศึกในตอนนี้มา เพราะเป็นการแสดงความสามารถของนักเรียน และมองว่าการที่จะใช้นักเรียนแสดงเยอะๆ ควรที่จะเลือกในตอนยกรบ จึงเลือกในตอนนี้มาให้นักเรียนได้ฝึกซ้อม โดยเน้นไปที่กระบวนการรบของนักเรียน ของฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิงเพื่อความพร้อมเพรียงในการแสดง

     “ มีการนั่งเมืองของฉากทศกัณฐ์ การรําเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ที่แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มีการรำเพลงเสมอมาร ผู้แสดงก็จะต้องมีประสบการณ์และมีความสามารถทางด้านการแสดงพอสมควร แล้วก็มีการตรวจพลของทางฝ่ายทศกัณฐ์เอง ในฝ่ายพระรามก็เช่นเดียวกัน เพราะจะมีการนั่งพลับพลาออกว่าราชการเหมือนกันแล้วก็มีการตรวจพล สุดท้ายแล้วทั้งสองทัพก็ยกมาต่อสู้กัน ใช้กระบวนการลีลาในการแสดงของการแสดงโขน

     สิ่งที่ยากก็คือคนที่จะมาเล่น มาฝึกโขนที่เป็นนักเรียนจะต้องมีใจรักจริงๆ เพราะว่าเราใช้วันเสาร์ ทั้งหมดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 13 มกราคม จนเสาร์สุดท้ายคือเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ทั้งหมด 5 เสาร์ ในการฝึกซ้อมโดยเชิญวิทยากรจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย กระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นวิทยากรให้กับนักเรียนในวันเสาร์  สำหรับวันธรรมดาผมก็จะฝึกซ้อมกันเอง ซ้อมให้กับนักเรียน เช่น เรามีภารกิจหรือติดประชุม นักเรียนก็จะฝึกซ้อมด้วยตัวเอง พี่ก็ดูแลน้อง น้องก็ดูแลพี่ คือเหมือนเป็นการสร้างความรักความผูกพันให้กับนักเรียน เช่นเดียวกันในส่วนหนึ่ง ”อาจารย์ธนะษิณกล่าว

     สำหรับการเลือกนักแสดง อาจารย์ธนะษิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เลือกจากนักแสดงที่สนใจ โดยพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆในจังหวัดพิษณุโลก เลยเกิดความคิดที่อยากจะทำโขน พยายามฝึกซ้อมนักเรียนให้รักในศิลปะแขนงนี้ เป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้านหนึ่ง

     “ใช้นักแสดงเฉพาะโขนประมาณ 50 คน แล้วก็มีการแสดงชุดแหย่ไข่มดแดงอีก 10 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นม.6 ซึ่งผมสอนวิชานาฏศิลป์ก็ใช้การแสดงชุดนี้สอนให้กับนักเรียนเพราะว่าการเรียนนาฏศิลป์บางครั้งเราจะต้องหาชุดการแสดงที่นักเรียนชายและนักเรียนหญิงสามารถแสดงได้ ซึ่งการแสดงเป็นแบบพื้นเมืองพื้นบ้าน จังหวะก็จะสนุกสนาน แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวภาคอีสาน  ในการสอยไข่มดแดงเพื่อมาทำอาหาร ทีนี้ก็เหมือนเป็นผลสัมฤทธิ์ในการเรียนในชั่วโมงเรียน เมื่อเรียนเสร็จแล้วนักเรียนก็สามารถออกมาทำการแสดงได้โดยนักเรียนก็จะเลือกมาห้องละหนึ่งคู่เป็นตัวแทน มีทั้งหมด 5 คู่ ก็ถือว่าเป็นการแสดงที่สนุกสนาน แล้วก็ถ้ามีโอกาสในเวทีต่างๆ ถ้ามีมาขอความอนุเคราะห์ขอความร่วมมือจัดหาให้เราไปแสดงถ้าไม่เหลือกว่าแรงเราก็จะไปแสดงให้ครับ”

     สำหรับตัวแทนนักแสดง เด็กชายศุทธวีร์ จินดาพงษ์   นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.2 แสดงเป็นพระราม (ฝ่ายพลับพลา) กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ที่ผมมาเล่นโขน ก็เพราะเห็นว่าโขนเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยที่ใกล้จะเลือนลางหายไปแล้ว ก็คืออยากที่จะอนุรักษ์เอาไว้ ให้สืบทอดต่อไป ครั้งนี้ได้รับบทเป็นพระราม ถือว่าเป็นบทที่ยากคือ ต้องมีความสง่างาม ต้องมีการฝึกฝนฝึกซ้อมบ่อยๆเพื่อให้เกิดความชำนาญ สิ่งที่ผมได้จากการเล่นโขนมีมากมาย ทั้งการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสืบสานวัฒนธรรม และการมีสังคมร่วมกับผู้อื่น ”

     ส่วนเด็กชายธนทัต แก้วมุกดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3.3 แสดงเป็นทศกัณฑ์ (ฝ่ายลงกา)กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ที่ผมสนใจมาเล่นโขนเพราะว่า ส่วนตัวชอบเรื่องรามเกียรติ์อยู่แล้ว ชอบอ่านหนังสือ ชอบดูอะไรที่เกี่ยวกับรามเกียรติ์  จนเห็นว่าทางโรงเรียนมีเรื่องเกี่ยวกับการเล่นโขน ก็เลยสมัครตั้งแต่ม.1 แล้ว ครั้งนี้รับบทเป็นทศกัณฐ์ เป็นปีแรกที่ได้เล่นเป็นทศกัณฑ์ เป็นบทที่เด่นด้วยก็ยากเหมือนกันครับ เพราะเราต้องเล่นในสิ่งที่เราไม่เคยเป็น และเนื้อเรื่องในตอนนี้ก็น่าสนใจ

     สิ่งทีได้รับจากการเล่นโขน คือการได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมของไทย และเป็นความภูมิใจที่ได้เล่นศิลปะชั้นสูงขนาดนี้ เพราะไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะมีศิลปะการแสดงแบบนี้ให้เล่น การที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนคุณพ่อคุณแม่ท่านก็ชอบกันทั้งบ้าน และท่านก็บอกว่าภูมิใจที่หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวมีโอกาสในการร่วมแสดงด้วยครับ”

     จากผลงานของเด็กเด็ดเด็ดในการแสดงโขนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันอนุรักษ์นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ที่เราควรร่วมกันรักษาวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบต่อไป

—————————————-

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก :
เว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ฯ นครพนม ถนนอภิบาลบัญชา
อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ประเทศไทย
http://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon