: บทความโดย อาจารย์ทัศน์พงษ์ ตันติปัญจพร :
อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งของสถานประกอบการ ที่จัดขึ้นเพื่อการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยแก่ลูกจ้างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการดำเนินงานของสถานประกอบการนั้นๆ อีกทั้งยังรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนทำงาน ส่วนใหญ่จะจัดภายใต้ “วันแห่งความปลอดภัยหรือสัปดาห์ความปลอดภัย” โดยสามารถเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และความพร้อมของสถานประกอบการ เช่น การจัดนิทรรศการ การประกวดคำขวัญความปลอดภัย การประกวดโปสเตอร์ การรณรงค์กิจกรรม 5ส การตอบปัญหาชิงรางวัล การสนทนาความปลอดภัย เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัด “โครงการนิทรรศการงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ NU Safety Day 2018” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ณ โถงกิจกรรมชั้น 1 อาคารบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยมีผู้สนใจเข้ารวมกิจกรรมกว่า 200 คน โครงการนี้เป็นการบริการวิชาการแก่สังคมที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้และเกิดความตระหนักถึงอันตรายในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว ชีวิตของคนเราเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงที่ดำเนินชีวิต เราจะทำอย่างไรในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเดินทางบนท้องถนน เราต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ข้ามถนนที่ทางข้ามหรือสะพานลอยดีที่สุด จากจุดเล็กๆ ที่หลายคนกลับมองข้าม จึงได้นำมาออกแบบกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1) นิทรรศการบริการวิชาการให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
2) การประกวดคำขวัญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “ความปลอดภัยบนท้องถนน”
เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นิสิตและผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยการพัฒนาจิตสำนึกและทัศนคติของนิสิตในรูปข้อความหรือคำขวัญที่เป็นการเตือนให้เกิดความระมัดระวังหรือเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน
3) การประกวดภาพถ่ายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน”เป็นกิจกรรมเพื่อให้นิสิตได้สำรวจและค้นหาจุดที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และดำเนินการถ่ายภาพบันทึกจากจุดอันตราย
4) การประกวดโปสเตอร์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “ความปลอดภัยบนท้องถนน” เป็นกิจกรรมเพื่อให้นิสิตมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ ประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นจิตสำนึกด้านความปลอดภัยบนท้องถนน
5) การแข่งขันตอบปัญหาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การประกวดได้จัดในลักษณะของทีม โดยนำข้อคำถามมาจากบอร์ดนิทรรศการหรือเอกสารที่แจกในงานวันความปลอดภัย
6) การประกวด NU Safety Dance หลายคนมองข้ามการออกกำลังกาย จึงทำให้สุขภาพอ่อนแอลงและ อาจประสบกับการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ความเครียด ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน การประกวดดังกล่าวจะกระตุ้นให้นิสิตเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเสริมสร้างความสามัคคี
: smile contest 2018 :
การประกวดจัดขึ้นเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมาถ่ายทอดนำเสนอให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ และเป็น Brand Ambassador ของสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหลักสูตร ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นิสิตในสาขาวิชาฯ ทุกคน
หลักสูตรได้มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่ต้องสร้างให้เป็นทั้ง “Manpower และ Manhood” กล่าวคือ การสร้าง “กำลังคนและความเป็นคน” การเป็นกำลังคน (Manpower) คือการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองทางด้านมาตรฐานวิชาการ และความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต ในขณะเดียวกันต้องมุ่งพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ (Manhood) คือการผลิตบัณฑิตให้เป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์พร้อม มีสมรรถภาพสูงและเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ของผู้ใช้บัณฑิต โดยการจะพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ภายใต้กรอบการจัดการศึกษาในสาขาวิชาชีพตามหลักสูตรเพียงด้านเดียวย่อมไม่สามารถทำได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกระบวนการด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องดำเนินการคู่กันไปกับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนั้นๆ อย่างสอดคล้องและสมดุล
หลักสูตรจึงได้จัด “โครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตและการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” สำหรับเป็นกลไกหรือเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาและเสริมหลักสูตรการเรียนรู้ของนิสิต ผ่านการจัดตั้งชมรมในนาม “ชมรม จป. น้อย” ซึ่งเป็นลักษณะของการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยคณะกรรมการบริหารชมรมจะได้รับการมอบหมายกิจกรรมจากคณาจารย์ หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือกิจกรรม NU Safety Day 2018 นิสิตจะต้องนำองค์ความรู้จากรายวิชาต่างๆ มาบูรณาการสู่การปฏิบัติ ตลอดระยะเวลาการเตรียมงานกว่า 2 เดือน นิสิตได้วางแผน มอบหมายและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในลักษณะของคณะกรรมการ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่านิสิตจะได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์ ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ นอกจากนี้นิสิตยังได้พัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ จากการทำกิจกรรม NU Safety Day 2018 เนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมความปลอดภัยที่สถานประกอบการส่วนใหญ่ดำเนินการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คือ ปลูกฝังในนิสิตเกิดความรักและศรัทธาในวิชาชีพของตนเอง ปฏิบัติงานบนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ใช้ทัศนคติที่ว่า ประกอบอาชีพนี้เพียงเพราะมีงานทำหรือมีค่าตอบแทนสูง ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าหากมีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยยึดสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นหลัก แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทยที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
>>สรุปผลการประกวดแสดงความสามารถพิเศษงาน NU SAFETY DAY 2018<<
———————————-
แหล่งอ้างอิง
- สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย). (ม.ป.ป.). การจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน. เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2561. จาก http://www.shawpat.or.th
- วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์. (2557). “ปรัชญา องค์กร และบทบาทหน้าที่” สุขศาสตร์อุตสาหกรรม กลยุทธ์ ประเมิน ควบคุม และจัดการ.กรุงเทพ: หจก.เบสท์ กราฟฟิค เพรส. หน้า 15-19.
- หนึ่งหทัย ขอผลกลาง และวิจารณ์ พานิช. (ม.ป.ป.). การผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21. เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน จากhttps://www.tci-thaijo.org/index.php/sjss/article/download/20389/17707
News : 0339