นวัตกรรมผ้าทอนาโนเทคโนโลยี

        จากการศึกษาวิจัย และ การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้มีการพัฒนา ชิ้นงานจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในมิติอื่น ด้วยการบูรณาการความรู้ในแขนงต่าง ๆ ผนวกรวมเข้าไว้ในผลิตภัณฑ์ผ้า โดยมุ่งหวัง การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมีความทันสมัย ใช้ประโยชน์ได้จริง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนจึงสร้างชุดเครื่องมือนาโนในระดับครัวเรือน เพื่อสร้างนวัตกรรมดังกล่าว

นาโนเทคโนโลยี

        โครงการ การพัฒนาสินค้าพื้นเมืองในเขตภาคเหนือตอนล่าง 1 สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ประเภทโครงการ Start-Up เกิดขึ้นจากความคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างรายได้ให้ผู้ผลิตผ้า และ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

        “นาโนเทคโนโลยี” หมายถึงเทคโนโลยีประยุกต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการสร้าง การสังเคราะห์ วัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับของอะตอม โมเลกุล หรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วงประมาณ 1 ถึง 100 นาโนเมตร ซึ่งจะส่งผลให้วัสดุหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ มีหน้าที่ใหม่ ๆ และมีคุณสมบัติที่พิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพ ทำให้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้สอยและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

นาโนเทคโนโลยีผ้ามีกลิ่นหอม

        กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อยอดงานวิจัยด้วยนาโนเทคโนโลยีมีกลิ่นหอม ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการใช้กลิ่นหอมที่มาในรูปของนาโนบอลอัดลงบนผืนผ้า ทำให้ผ้ามีกลิ่นหอมเมื่อนำไปใช้ โดยนาโนบอลจะทำหน้าที่เก็บกักกลิ่นหอมเอาไว้ เมื่อผู้บริโภคใช้ผ้าแล้วเกิดการเสียดสี นาโนบอลจะค่อยๆ แตกตัว

        ส่งกลิ่นหอมออกมา โดยนาโนบอลทนต่อการซักล้างหลายสิบครั้ง ทั้งนี้งานวิจัยของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิจัย ทำให้เกิดผ้าทอถึง 4 กลิ่น ได้แก่ กลิ่นดอกจำปา กลิ่นดอกแก้ว กลิ่นกุหลาบ และ กลิ่น Spot

นาโนเทคโนโลยีป้องกันแมลงในผ้า

        นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีที่นำมาใช้ประโยชน์กับผ้าทอได้ คือ นาโนเทคโนโลยีป้องกันแมลง ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับผ้าทอจากเส้นใยฝ้าย และไหมประดิษฐ์ พบว่านวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพดีทำให้มด และแมลงไม่ทำอันตรายผ้าทอ ซึ่งผลจากการทดลองนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้นาโนเทคโนโลยีป้องกันแมลงในผ้ากับผลิตภัณฑ์ผ้าประเภทกระเป๋า รองเท้าเคหะสิ่งทอ ฯลฯ ได้

ขอขอบคุณข้อมูล : กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

————————————————–

News: 0089

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon