ทีมอาจารย์คณะสาธาฯ ม.นเรศวร ผลักดันนิสิตคิดผลงานวิจัยสร้างสรรค์สังคม 

อาจารย์สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลักดันให้นิสิตคิดค้นผลงานวิจัยสร้างสรรค์สังคม  ในงานมหกรรมวิชาการกลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2560 

หลังจากที่ สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม  คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้จัดมหกรรมวิชาการกลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยฯ ครั้งที่ ประจำปี 2560 ซึ่งภายในงานมหกรรมดังกล่าว  มีโครงการต่างๆ  ที่น่าสนใจประกอบไปด้วย โครงการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ สำหรับนิสิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 4โครงการจัดการขยะเพื่อชุมชนและนำเสนอผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากขยะ สำหรับนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน ชั้นปีที่ 4  และโครงการแก้ไขปัญหา การยศาสตร์ในการทำงาน สำหรับนิสิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชั้นปีที่ 3  ที่อาคารเพราพิลาส ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนที่กำลังเดินหน้าไปพร้อมกับทิศทางของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัย แห่งการวิจัย 

ดร.พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร   อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า  การนำเสนอผลงานของนิสิตในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาวิทยานิพนธ์ 1 ระดับปริญญาตรีซึ่งนิสิตได้จัดทำเสร็จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และเปิดโอกาสให้นิสิตได้มานำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน 

“กิจกรรมลักษณะนี้จะจัดกันปีละครั้ง  ซึ่งต้องบอกว่าเราเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และนิสิตในที่อยู่ในชั้นปีอื่นๆ ได้มีโอกาสมาดู  มีข้อซักถามต่างๆ ซึ่งกันและกัน  พร้อมทั้งมีรางวัลให้กับผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้วย  นอกจากนี้  การนำเสนอผลงานวิจัยนี้จะช่วยเรื่องการฝึกพูดในที่ชุมชนต่างๆ  ถือว่ามีความจำเป็นเวลาที่นิสิตจะต้องไปทำงานจริงหรือเรียนต่อ  นิสิตจะได้มีทักษะติดตัวไป   

สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม  ในคณะสาธารณสุขศาสตร์  อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก  แต่ว่าเวลาที่มีการเรียนการสอน  เราจะเรียนในเรื่องของผลกระทบในสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบกับสุขภาพ  รวมถึงได้มีโอกาสที่จะได้ลงไปดูในพื้นที่จริง  ได้ทำงานวิชาการ  และสาขานี้ยังมีงานรองรับอยู่ค่อนข้างมาก  ซึ่งในปีที่ผ่านมานิสิตของเราได้งานกันถึง 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.พันธ์ทิพย์  กล่าว

อาจารย์ทัศน์พงษ์ ตันติปัญจพร  อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  กล่าวว่า การทำวิทยานิพนธ์นิสิตจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ  มีความคิดสร้างสรรค์  มีความอดทน สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งนิสิตเองก็สามารถนำทักษะเหล่านี้ติดตัวไปเมื่อทำงานจริง ในฐานะเป็นผู้ดูแลสุขภาพของคนทำงานให้มีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี 

“วัตถุประสงค์หลักของการนำเสนอโปสเตอร์นั้น  นอกจากเราต้องการให้กับนิสิตได้เผยแพร่ผลงานวิจัยให้กับนิสิตรุ่นน้องและผู้ที่สนใจแล้ว  เราอยากให้นิสิตได้เรียนรู้ในเรื่องของการออกแบบโปสเตอร์ ในรูปแบบต่างๆ  เพื่อทำให้นิสิตได้มีความคิดสร้างสรรค์  เพราะเมื่อเวลาต้องไปทำงานจริงเขาจะต้องออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ต่างๆ ที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม  เมื่อเขาจบไปเขาจะต้องไปดูแลความปลอดภัยหรือว่าไปดูแลสุขภาพของคนที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม  ดังนั้น  สื่อต่างๆ จึงมีความจำเป็น และเมื่อนิสิตมีทักษะในการออกแบบโปสเตอร์ก็จะสามารถนำไปต่อยอดชีวิตการทำงานได้ 

สำหรับชิ้นงานที่นำเสนอจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้การดูแล  โดยที่นิสิต 1 คน  จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน  อาจารย์ก็พยายามให้กำลังใจนิสิต  ซึ่งต้องบอกว่าการทำงานวิจัย 1 เรื่อง  กว่าจะได้ออกมาเป็น 1 ชิ้นงานเหนื่อยมากก็พยายามให้เขาอดทน  ซึ่งนิสิตเองก็จะได้เรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ  และสามารถแก้ปัญหาได้  และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงานของเขาในอนาคตต่อไป 

วนหนึ่งของการทำวิทยานิพนธ์  ทางคณะพยายามที่จะเดินตามทิศทางนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย  และเมื่อนิสิตได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์เขาจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ  ตั้งแต่การคิดหัวข้อวิจัยในการคิดที่จะแก้ปัญหางานวิจัยจากสิ่งที่นิสิตได้เรียนมา  มีการประมวลผล  มีการวิเคราะห์ผล  มีการสรุปผล  มีการอภิปรายผลการศึกษา  ซึ่งก็ถือว่าเป็นทักษะหนึ่งที่จะต้องติดตัวเขาไปเวลาที่เขาไปทำงานเขาก็จะได้รู้จักคิดวิเคราะห์  แก้ไขปัญหาต่างๆ  เพื่อที่จะทำให้เขาในฐานะที่ไปดูแลสุขภาพของคนทำงานให้มีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี 

การเรียนทางด้านสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  เป็นการดูแลสุขภาพของคนทำงานและดูแลเรื่องของความปลอดภัยซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจรรยาบรรณวิชาชีพที่เราพยายามบอกเด็กเสมอว่า  เราทำงานเพื่อดูแลสุขภาพของคนทำงานให้ปลอดภัยและสุขภาพดี  คนที่เขาเข้ามาทำงานอวัยวะเขาครบ 32 ประการ  เวลาเขาออกไปนอกโรงงานเขาก็จะต้องมีอวัยวะครบ 32  ประการเหมือนกัน  นี่คือสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังให้กับนิสิต  ดังนั้นจึงมองว่าการเรียนสาขานี้เป็นสาขาที่ให้  ซึ่งถ้าหากเรารักที่จะให้  รักที่จะดูแลสุขภาพของคน  อยากที่จะให้มาเรียนในสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  หรือแม้กระทั่งอนามัยสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกัน  ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วก็สามารถทำงานร่วมกันได้” อาจารย์ทัศน์พงษ์  กล่าว 

อาจารย์วิโรจน์ จันทร อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  กล่าวว่าโครงการแก้ไขปัญหาการยศาสตร์ในการทำงาน สำหรับนิสิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชั้นปีที่ 3  อยู่ในรายวิชาที่ตนเองได้รับผิดชอบ  เพื่อให้นิสิตได้คิดค้นนวัตกรรม  ดัดแปลงเครื่องมือ  ปรับปรุงเครื่องมือให้ช่วยลดปัญหาจากการการทำงาน  หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น 

“การจัดโครงการนี้เพื่อให้นิสิตได้สร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาการยศาสตร์  โดยเชื่อมโยงกับการทำงานในทุกๆ  ส่วนทั้งในส่วนของเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  ซึ่งอาจจะนำหลักการจากวิชาต่างๆ  ที่ได้เรียนมาออกแบบเครื่องมือต่างๆ ปรับปรุงปรับใช้เครื่องมือในกลุ่มอาชีพที่นิสิตสนใจ  โดยในเบื้องต้นก็เปิดโอกาสให้นิสิตเข้าไปในชุมชนเพื่อไปสอบถามว่าในชุมชนมีปัญหาเกี่ยวกับทางด้านการยศาสตร์ในเรื่องใดบ้าง ซึ่งนิสิต ได้พยายามคิดค้น  ดัดแปลงเครื่องมือ  ปรับปรุงเครื่องมือให้ช่วยลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น   

ทั้งนี้  สิ่งที่นิสิตต้องคำนึงถึงก่อนที่จะคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ  เช่น  ภาคแรงงานมีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องบ้าง  อะไรเป็นปัญหาที่ชัดเจนนิสิตต้องพยายามเข้าไปตามปัญหาให้มีความชัดเจนก่อน  จากนั้นจะต้องใช้หลักการของการยศาสตร์มาช่วยในการแก้ปัญหาให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  และผลงานที่นิสิตคิดค้น  ดัดแปลง ปรับปรุงเครื่องมือแล้วต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริง”  อาจารย์วิโรจน์ กล่าว 

 

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ 

-ดร.พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร   อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม   

-อาจารย์ทัศน์พงษ์ ตันติปัญจพร  อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย   

-อาจารย์วิโรจน์ จันทร อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย   

 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลเพิ่มเติมจาก :  คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

news 0078

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon