ม.นเรศวร เปิดตัว นวัตกรรมตรวจความสุกแก่ของทุเรียน

ทุเรียนเป็น “King of Tropical Fruit หรือ ราชาของผลไม้เมืองร้อน” จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากและมีมูลค่าการส่งออกสูง มีการปลูกแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากบริโภคภายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกทุเรียนสดไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นต้น ทั้งนี้เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวมีความจำเป็นมากสำหรับชาวสวนทุเรียน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีเปลือกหนา ความสุกแก่ดูได้ยากจากภายนอก เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาว่าพบทุเรียนอ่อนในการซื้อขาย เนื่องมาจากความชำนาญเฉพาะบุคคลในการคัดแยกความสุกแก่ของทุเรียนแต่ละผล ทำให้ไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถรับประกันคุณภาพของผลผลิตได้ ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของตลาด และไม่มีมาตราฐานที่สากลยอมรับ

ล่าสุด ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยตรวจสอบคุณภาพทุเรียนหมอนทองแบบไม่ทำลายผลิตผล โดยใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี(Near Infrared Spectroscopy; NIRS)ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อการส่งออก ภายใต้ทุนวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี (Near Infrared Spectroscopy) เป็นวิธีที่สามารถใช้ประเมินคุณภาพทุเรียนหมอนทองแบบไม่ทำลายผลิตผล จะสามารถบอกถึงคุณภาพภายในผลทุเรียนหมอนทอง เช่น ความสุกแก่ และความหวานของเนื้อทุเรียน ทำให้สามารถคัดเกรดทุเรียนหมอนทองที่มีคุณภาพดีและมีมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเชื่อถือได้

ทั้งนี้ หากปัญหาของคุณภาพผลผลิตทุเรียนหมอนทองได้รับการแก้ไข จะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผล และรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของทุเรียนหมอนทองในการส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อการพาณิชย์ อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาภาพรวมทางเศรษฐกิจและช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง

 

สุธินี พูลเขตนคร : ข่าว

24-05-60 / 237

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon