ชาวสวนทุเรียนเฮ…ม.นเรศวรออกแบบเครื่องปอกเปลือกทุเรียน เร็วทันใจ 27 วินาที ต่อ ลูก


ชาวสวนทุเรียนเฮ…ม.นเรศวรออกแบบเครื่องปอกเปลือกทุเรียน เร็วทันใจ 27 วินาที ต่อ ลูก

              มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัว “เครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแลแบบกึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมมือกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาชาวสวนทุเรียนอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล เป็นทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ลูกมีขนาดเล็กประมาณ 1 กิโลกรัม ไม่มีกลิ่น เมล็ดมี ขนาดเล็กมาก เนื้อสีเหลืองอ่อน นุ่ม หอมและหวานพอดี ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่ชอบรับประทานทุเรียนแต่ไม่ชอบกลิ่นของ ทุเรียน ในการปอกเปลือกทุเรียนจะต้องใช้ความชำนาญในการปอกโดยใช้มีดผ่าไปที่ผลทุเรียนทีละพูและแหวกออกเพื่อเอาเนื้อ ทุเรียนออกมา จากการใช้แรงงานคนในการผ่าผลทุเรียนจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าและผู้ที่ไม่มีความชำนาญอาจจะได้รับความ บาดเจ็บจากการถูกหนามทิ่มตำได้

ผศ.ดร.รัตนา การุญบุญญานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า  เครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแลแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถปอกเปลือกทุเรียนที่มีขนาดความสูงแตกต่างกันได้ โดยที่ไม่ต้องปรับตั้งอุปกรณ์ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผลทุเรียน สามารถลดเวลาและภาระที่ใช้ในกระบวนการปอกเปลือก ผลจากการศึกษาสมบัติทางกายภาพของผลทุเรียนพันธุ์หลงลับแล พบว่าตำแหน่งปลายผลทุเรียนเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม ต่อการเปิดเปลือก ทำการออกแบบและสร้างเครื่องปอกเปลือกทุเรียนต้นแบบ โดยอาศัยหลักการการเคลื่อนที่ของกลไกด้วย ระบบนิวแมติกส์และควบคุมด้วยระบบเซนเซอร์ ทดสอบการทำงานโดยการกดหัวเจาะแบบ 5 ครีบซึ่งครีบมีมุมเอียงต่างกัน 3 รูปแบบคือ 1) แบบกรวยมีครีบเอียงทำมุม 30 องศา 2) แบบกรวยมีครีบเอียงทำมุม 45 องศา และ 3) แบบกรวยมีครีบเอียง ทำมุม 60 องศา ลงบนผลทุเรียนลึก 3 เซนติเมตรแล้วบิดหัวเจาะเพื่อให้เปลือกฉีกออกตามแนวจากผลการทดสอบพบว่าหัว เจาะแบบหมุนแหวกเปลือกแบบกรวยมีครีบสามารถเปิดผลทุเรียนสุกได้ดีที่สุด เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการปอกเปลือกและความเสียหายของเนื้อทุเรียน พบว่าแบบกรวยมีครีบเอียงทำมุม 30 องศากับแนวดิ่งมี ความเหมาะสมที่สุด ใช้เวลาเปิดผลเฉลี่ย 27 วินาที เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการเปิดผลด้วยเครื่องและแกะด้วยมือเฉลี่ย 2 นาที 45 วินาทีต่อลูก สามารถปอกเปลือกได้ 22 ลูกต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 2.75 เท่า เมื่อเทียบกับการปอกด้วยมือ (8 ลูกต่อชั่วโมง)

กล่าวโดยสรุป เครื่องปอกเปลือกทุเรียนแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถปอกเปลือกได้เร็ว ใช้งานได้ง่าย และราคาเครื่องไม่แพง จึงมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการที่ทำทุเรียนแกะใส่กล่องเพื่อจำหน่าย หรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำทุเรียน     แปรรูป เพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวกสบายขึ้น ลดความเมื่อยล้าและมีความปลอดภัยในการทำงาน เป็นการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งมีการจัดงานมหกรรมทุเรียนหลง-หลินลับแลเป็นประจำทุกปี และสามารถพัฒนา ปรับปรุงเครื่องต้นแบบให้สามารถใช้ปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์อื่นๆได้ในอนาคต

สุธินี พูลเขตนคร : ข่าว

24-05-60 / 238

[custom-related-posts title=”Related Posts” order_by=”title” order=”ASC” none_text=”None found”]

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon