อาจารย์ มน. ได้ทุนวิจัย “การเพิ่มคุณค่าไรแดงด้วยโพรไบโอติก เพื่อการอนุบาลปลากัด” 

    สำหรับผู้ที่ชอบ หรือเลี้ยงปลากัด มารวมกันทางนี้ ครั้งนี้เราจะพาทุกท่านมาร่วมกันค้นหาคำตอบจากอาหารชนิดใหม่ ที่คาดว่าจะมาช่วยสร้างการเจริญเติบโตให้กับปลากัด จากศาสตร์ทางด้านชีวเคมี  โดย ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาติดตามรายละเอียดกัน 

คำถาม ที่มาของโครงการวิจัยฯ นี้ เป็นอย่างไร 

    โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับปลากัด อย่างที่เรารู้กันว่าปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติของชาติไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เราเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกระดับต้น ๆ เลยของปลาสวยสำหรับปลากัด ส่วนที่โครงการวิจัยนี้จะ Focus ไปเป็นเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลลูกปลากัดโดยเฉพาะในช่วง 2  3 เดือนแรก ซึ่งจะเป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุด และมีโอกาสตายสูงที่สุด โดยทั่วไปเป็นปลาที่ค่อนข้างจะทน ถ้าใครเคยซื้อหรือเคยขายปลากัด เรารู้ว่าจะใส่ถุงมัดส่งขายข้ามประเทศได้สบาย ๆ มันไม่ตายง่าย ๆ ถ้าเป็นตัวที่ตัวแล้ว แต่ถ้าเป็นตัวเล็กตัวที่ออกจากไข่มาจะค่อนข้างจะยาก ฝั่งวิจัยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องอาหารของลูกปลากัดนี้ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในการกำหนดอัตรารอด และอัตราโตของมัน ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ก็จะง่ายขึ้นเยอะ” 

คำถาม อาหารที่เราใช้กับปลากัดคืออะไร 

    ตอนนี้ที่ชาวบ้านเขาใช้กันมีหลายสูตร ก็จะมีสูตรที่ใช้กันบ่อยก็คือไข่แดง เอาไข่แดงต้มสุกและใส่น้ำไป คำบอกเล่าของชาวบ้านก็บอกว่าโตเร็วดี แต่ว่าข้อเสียจะทำให้น้ำเน่าก็ต้องล้างบ่อกันบ่อย ล้างทีนึงก็จะกระทบกระเทือนลูกปลาก็ตาย อีกอันหนึ่งก็ใช้อาทีเมีย เป็นราน้ำเค็ม ราคาค่อนข้างจะสูง และก็จะต้องนำมาล้าง ถ้าล้างน้ำเค็มไม่สะอาดปลาก็จะท้องอืด แต่ว่าตัวที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือไรแดง ไรแดงเองก็มีหลายขนาด ไรแดงที่ขนาดใหญ่เกินไปลูกปลาก็จะกินไม่ได้ ไรแดงที่ขนาดเล็กก็คัดเลือกยากว่าตัวไหนจะเล็กจะใหญ่ แล้วก็อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ตัวแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่นที่อยู่กับไรพวกนี้ สัตว์น้ำส่วนใหญ่จะมีทางเดินอาหารยังไม่ค่อยสมบูรณ์ตอนที่มันเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ  

    เพราะฉะนั้น พวกนี้มันจะต้องอาศัยเอนไซม์จากตัวอาหารที่กินเข้าไปโดยเฉพาะที่มาจาแบคทีเรียที่อยู่ในอาหารพวกไรและพวกอาทีเมียที่จะช่วยในการย่อย เพราะฉะนั้นประเภทแบคทีเรียที่ติดอยู่กับอาหารน่าจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดอัตราโตและอัตรารอดของสัตว์พวกนี้ และก็มีงานวิจัยที่เคยทำมาในปลาชนิดอื่น ๆ ทั้งในปลาน้ำเค็ม และปลาน้ำอื่น ๆ เกี่ยวกับพวกจุลินทรีย์พลีไบโอติก ที่จะสามารถมาช่วยพวกนี้ในการที่จะทำให้ลูกปลา แต่ว่าไม่มีคนทำในปลากัด อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่จะโฟกัสในงานโดยประมาณนี้ 

คำถาม : โครงการวิจัยฯ นี้ มีความร่วมมือกับภาคส่วนใดบ้าง 

    “ตอนนี้มีความร่วมมือกับผู้เลี้ยงปลากัด และก็สมาคมปลากัด ผมก็รู้จักผู้ใหญ่ในสมาคมปลากัด หลายท่านเหมือนกัน และก็มีผู้เลี้ยงปลากัดในเขตพิษณุโลกเองก็มีอยู่หลายเจ้า และก็มีที่ไปซื้อลูกปลากัดของเขามา และก็ตัวอย่างของจุลินทรีย์ที่ไปเก็บมาส่วนหนึ่งก็จะมาพื้นที่เลี้ยงปลากันเหล่านี้ เอามาคัดแยกและพัฒนาต่อ 

คำถาม ลำดับขั้นตอนในกระบวนการวิจัย เป็นอย่างไร 

    “หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกคือหาตัวจุลินทรีย์ก่อน จุลินทรีย์ในธรรมชาติจะมีอยู่ในทุกที่ อยู่แล้ว แต่เรายังไม่รู้ว่าตัวไหนดี ตัวไหนไม่ดี ขั้นแรกสุดเลยการคัดตัวที่ดี ๆ ออกมา โดยสถานที่ที่เราจะไปคัด ก็คือ บ่อปลากัดและขี้ปลากัด หรือแม้แต่ลำไส้ของปลากัดเอง พวกนี้จะมีจุลินทรีย์ที่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ และก็น่าจะมีวิวัฒนาการร่วมกับปลาพวกนี้ตามสมมติฐานของเรา  

    ระดับขั้นตอนแรกเราก็จะนำตัวนี้มาคัดแยกก่อน ดูคุณสมบัติก่อน จำแนกชนิดก่อน ว่าตัวไหนที่มันไม่น่าจะก่อโรค และก็น่าจะมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเติบโตของปลากัด หลัก ๆ เลยเราจะดูในเรื่องของเอนไซม์ ว่ามันสามารถที่จะหลั่งเอนไซม์ที่มันช่วยย่อยอาหารได้  

    ต่อมาเราก็จะเอาตัวจุลินทรีย์ตัวนี้เอามาพัฒนาต่อเป็นสูตรจุลินทรีย์ ซึ่งจะสามารถเก็บรักษาง่าย  และก็สามารถจะบรรจุไปในอาหารปลากัด ซึ่งก็คือไรแดง เป็นอาหารหลักของปลากัด ก็จะลองดูว่าพอตัวนี้ไปเลี้ยงในระบบของไรแดงแล้ว มันสามารถมีชีวิตอยู่ในตัวไรแดงได้นานขนาดไหนที่ความหนาแน่นเท่าไหร่  

    และก็เฟสที่ 3 ก็จะนำไปทดสอบกับตัวปลากัดจริง ๆ เพื่อจะทดสอบว่ามีผลต่อการเติบโตและอัตราการรอดมากน้อยขนาดไหน โดยที่เฟสของปลากัดจะเริ่มทำจากในห้องปฏิบัติการก่อน และก็ถ้าใช้การได้อย่างไร ก็ขยายไปทำกับบ่อจริง ๆ ที่อยู่ข้างนอก 

คำถาม จากการสมมติฐาน หรือประเมินเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะเป็นจุลินทรีย์จำพวกไหนที่จะมีประโยชน์ในการศึกษาในครั้งนี้ 

    มีหลายตัว ตามที่มีรายงานการศึกษามา แต่ตอนนี้อย่างแรกที่จะ Focus จะเป็นกลุ่ม บาซิลลัส และแลคโตบาซิลลัสก่อน เพราะสองตัวนี้มีข้อดีอย่างน้อย ๆ 2 ตัวอย่าง อย่างหนึ่งก็คือมันไม่ค่อยเป็นตัวก่อโรคในคนกับในสัตว์เท่าไหร่เพราะฉะนั้นคาดว่าจะปลอดภัย  

    ตัวที่ 2 ก็คือว่า มันค่อนข้างจะทน พวกนี้หลายตัวมันสามารถสร้างสปอร์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าในอนาคตมันใช้ได้จริง เราอยากจะผลิตเป็นระดับที่ใหญ่ เราจะเก็บเป็นผง เก็บเป็นสูตรอาหาร มีโอกาสที่จะใช้ได้สูงกว่า 

    จริง ๆ มีอีกข้อก็คือว่า ในงานวิจัยที่ผ่านมาก็เคยมีรายงานว่า ตัวพวกนี้มีผลต่อการย่อยอาหาร  ต่อการโตของปลา แต่ว่าเป็นปลาชนิดอื่น ซึ่งมันจะมีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต 3 ชนิด มีจุลินทรีย์ มีตัวไร และก็มีตัวปลากัด 

คำถาม ถ้าหากว่าเรานำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ จะได้ตัวไรแดงที่มีชีวิตไปให้ปลากัดโดยตรง หรือว่าจะต้องไปทำผลิตภัณฑ์ผงที่ทำจากไรแดง หรือไม่ อย่างไร 

    “เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง ที่เราหวังไว้ถ้าทำเป็นผงแล้วมันเก็บรักษาง่าย จะใช้ก็เติมลงไปในน้ำคลุกกับไรแดงแล้วกินได้ทันทีอันนี้ก็จะดีที่สุดเลย แต่ถ้าเกิดว่ามันไม่ได้ อาจจะต้องปรับอย่างเช่นว่า อาจจะเป็นสูตรน้ำผสมลงไปในน้ำเลี้ยงไรแดง ตรงนี้อาจจะต้องลองกันต่อไปว่าแบบไหนจะดีที่สุด 

คำถาม นอกจากเรื่องที่อาจารย์กำลังศึกษาอยู่ตอนนี้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่อาจารย์อยากจะศึกษาต่อเพิ่มเติมอีกบ้าง 

    “ถ้าเริ่มจากที่ใกล้ตัวเราก่อน อย่างแรกเลยอันนี้อยู่ในบริบทของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ทั้งสัตว์น้ำที่มันกิน ที่เราเอากินแล้วก็สัตว์น้ำสวยงาม อย่างสัตว์น้ำสวยงามอย่างที่กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกรายใหญ่ แล้วก็ทางฝั่งรัฐบาลเองก็พยายามที่จะผลักดันในเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ไม่ใช่แค่ตอนเพาะเลี้ยงอย่างเดียว ยังรวมถึงการดูแลตัวที่มันโตด้วย การศึกษาพันธุกรรมด้วย และก็ตัวระบบเพาะเลี้ยงเอง ถ้าในมุมของสมาร์ทฟาร์มมิ่งอาจจะพูดถึงในแง่ของการปรับสภาวะการเลี้ยง การปรับระบบน้ำไหน ระบบอุณหภูมิ ระบบการให้อาหาร พวกนี้จะมีประโยชน์ต่อการผลิตในสเกลใหญ่ และประโยชน์ในการลดต้นทุนในอนาคต 

    หลังจากที่มองมุมของสัตว์น้ำแล้ว มองอีกมุมหนึ่งในเรื่องของจุลินทรีย์และก็โพรไบโอติก ช่วงหลายปีหลังมานี้ ทั่วโลกเรามีการพบกันมากขึ้นมาเรื่อย ๆ ว่าจุลินทรีย์ทั้งหลายมีผลต่อสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นอย่างยิ่ง 
ทั้งพืช ทั้งสัตว์ ทั้งมนุษย์ การเติบโตของพืชที่อยู่ในฟาร์ม ทั้งสุขภาพของเรา ทั้งสุขภาพระบบทางเดินอาหาร สุขภาพจิต สุขภาพภูมิคุ้มกันทั้งหลายมันสัมพันธ์กับประเภทและสัดส่วนของจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของเรา  

    เพราะฉะนั้นแม้ความรู้ด้านโพรไบโอติกมีมานานแล้ว แต่ว่าเพิ่งมีมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้เองที่เรามีเครื่องมือที่จะศึกษาที่ตัวพันธุกรรม และก็ศึกษาการเปลี่ยนแปลง และก็ศึกษาไดนามิกส์หรือว่าพลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างสรีรวิทยาของสัตว์หรือพืชกับจุลินทรีย์พวกนี้ เพราะฉะนั้นการที่เราค้นพบความสัมพันธ์พวกนี้ มันจะช่วยให้เรานำจุลินทรีย์พวกนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ 

คำถาม ระยะเวลาในการดำเนินโครงการนานเพียงใด 

    “ในเฟสแรกของโครงการนี้ประมาณ 1 ปี แต่ว่าเราก็จะแบ่งเป็นตอนย่อย ๆ อย่างที่เล่าให้ฟังใน 3 ขั้น คือ การสกัดแยกเชื้อ ทดสอบกับไรแดง และก็ทดสอบกับปลากัด โดย 3 ส่วนนี้จะทำคู่ขนานกันไป  

    อย่างตรงปลากัดเองตอนนี้เราก็จะเริ่มมาทดลองระบบการเลี้ยงของเราก่อน ซึ่งมันจะต่างในระบบการเลี้ยงในฟาร์มอยู่พอสมควรเพราะเป็นระบบในแลป สเกลมันจะเล็กกว่า แต่ว่ามันจะมีความยากในแง่ของการที่จะต้องทำสภาวะการเลี้ยงให้มันค่อนข้างจะคงที่ เพราะเราจะได้ตอบได้ว่าตัวแปลไหนบ้างที่เป็นผลต่อการรอดหรือการโต เฟสแรกก็ประมาณสัก 3  4  เดือน ก็น่าจะพอรู้เรื่องแล้วว่าระบการเลี้ยงเราใช้ได้ไหม หรือจุลินทรีย์ที่เราคาดว่ามันจะมีอยู่ในตัวปลากัดเองหรือในระบบการเลี้ยงเอง จุลินทรีย์ตัวไหนที่จะมีแววใช้การได้ถ้าเราโชคร้ายไม่เจอจริง ๆ เราก็อาจจะขยับขยายไปต่อว่า อาจจะมีจุลินทรีย์จากปลาชนิดอื่น หรือระบบการเลี้ยงแบบอื่นที่เราอาจจะนำเข้ามาเพื่อจะใช้ในการเลี้ยงปลากัดหรือปลาในกลุ่มนี้ 

คำถาม หลักคิดของผู้ที่สนใจจะมาศึกษาทางด้านนี้ เป็นอย่างไร 

    “มองอยู่ 2 แง่ ในมุมของวิทยาศาสตร์ และมุมของการประยุกต์ใช้ ในมุมของวิทยาศาสตร์ถ้าเราชอบที่จะตั้งคำถาม บางทีเป็นคำถามง่าย ๆ อะไรบ้างเป็นตัวกำหนดการโต อะไรบ้างที่เป็นตัวกำหนดการรอด อะไรบ้างเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตของทั้ง 3 อย่างนี้  

    คำถามง่าย ๆ นี้ แต่ว่ามีมติที่ลึกลงไปในการที่ตอบมัน เราสามารถที่จะขุดลึกลงไปถึงไหนต่อไหนก็ได้ ถึงระดับโมเลกุล ถึงระดับยีน หรือระดับจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่มาปฏิสัมพันธ์กัน การเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ 
แต่พยายามหาคำตอบที่มันลึกซึ้ง มันจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ  

    ถ้าในมุมของการประยุกต์ใช้ จะต้องมองในแง่ว่าสุดท้ายแล้วใครจะเป็นคนรับผลประโยชน์ที่สุด อย่างกรณีของเรา ก็ไปคุยกับสมาคมผู้เลี้ยงปลากัด คุยกับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เขาก็สามารถที่จะตั้งโจทย์ให้เราได้ ช่วยเราตั้งโจทย์ว่าเราจะวางทิศทางแนวทางการวิจัยไปในทิศทางไหน เพื่อที่สุดท้ายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วที่สุดมันก็จะเป็นสองด้านที่คู่กันไป” 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon