นักวิจัย มน.ได้ทุนวิจัยถั่วลิสงกาฬสินธ์ุ 2 คาดพัฒนาเป็นสารสกัดส่งเสริมสุขภาพ 

    สำหรับเนื้อหาที่นำเสนอในครั้งนี้ เป็นหัวข้อการศึกษาวิจัย เรื่อง “การเพิ่มผลผลิตสารสตีลบินในการเพาะเลี้ยงรากลอยถั่วลิสงโดยการกระตุ้นด้วยไคโตซาน เมทิลจัสโมเนต และ ไซโคลเดกซ์ทริน”  เป็นการศึกษาวิจัยที่อยู่ในโครงการทุนวิจัยบัณฑิตศึกษา ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้ร่วมพูดคุยกับทีมวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  มาติดตามกัน 

 คำถาม ที่มาของทุนที่ได้รับการสนับสนุน เป็นอย่างไร 

คำตอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  

    ก่อนอื่นก็จะเล่าถึงทุนนี้ก่อน ทุนในส่วนนี้จะได้ทุนมาจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยทางการเกษตร องค์การมหาชน หรือ สวก. ซึ่งเป็นทุนที่ประกาศให้กับบัณฑิตศึกษาก็เลยให้กับบัณฑิตศึกษาที่ทำในงานวิจัยนี้ลองส่งสมัครทุนไป ก็ปรากฎว่าผลที่ได้รับก็คือได้รับแจ้งว่าได้รับทุน ซึ่งทุนนี้จะเน้นในเรื่องของงานวิจัยทางด้านการเกษตร สามารถที่จะประยุกต์ผลที่ได้จากการวิจัยเอาไปประยุกต์ต่อยอดทางการเกษตรได้ 

    ซึ่งเริ่มต้นอาจารย์เล่าที่มาก่อนว่าตัวรากลอยมีที่มาอย่างไร อันนี้จะเป็นถั่วลิสงสายพันธุ์กาฬสินธุ์ 2  ซึ่งถั่วลิสงก็เป็นพืชทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่แล้ว เริ่มที่อาจารย์จะศึกษา อาจารย์เริ่มต้นจาก  ถั่วลิสง เอาถั่วลิสงมาเพาะให้งอก หลังจากนั้นก็ตรวจสอบว่าถั่วลิสงที่งอกแล้วโดยปกติเราทราบกันว่าพืชหรือธัญพืชต่าง ๆ เมื่องอกมักจะมีสารสำคัญเขาก็จะส่งเสริมให้ทานพวกธัญพืชงอก  

    ดังนั้น ตอนศึกษาก็พบว่า เมื่อถั่วลิสงงอกออกมาเอาไปตรวจสอบสาร ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง ก็เลยเป็นที่มาทำยังไงดีเราถึงจะมี Material มีตัวเริ่มต้นโดยที่ที่เราไม่ต้องไปเก็บถั่วลิสง เพราะว่าถั่วลิสงจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน มันก็อาจจะให้สารสำคัญแตกต่างกัน เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับภูมิประเทศเลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นงานวิจัยการเพาะเลี้ยงรากลอย อาจารย์ก็เริ่มจากการตรวจสอบวรรณกรรมว่า มีงานวิจัยอะไรบ้างที่เขาใช้เทคนิคทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเอามาประยุกต์ใช้ก็พบว่า มีงานวิจัยที่ต่างประเทศเขาได้ทำกระบวนการหนึ่งที่เขาเรียกว่า รากลอย  

    รากลอยนี้ได้จากการเอาถั่วลิสงมาเพาะในห้องปฏิบัติการหลังจากนั้นจะใช้เชื้อที่อยู่ตามธรรมชาติ ใช้เชื้อให้มันเอายีนที่เกี่ยวข้องกับการเร่งราก ให้เข้าไปในต้นถั่วลิสงเพื่อที่จะไปกระตุ้นให้สามารถผลิตรากออกมาได้ คืออาจารย์ก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าที่จะได้รากลอยออกมา เมื่อได้รากลอยออกมาแล้ว รากลอยมีคุณสมบัติที่ดี คือ สามารถเจริญเติบโตได้ โดยที่เราไม่ต้องเพาะเลี้ยงโดยใส่ฮอร์โมนเร่งรากเลยเนื่องจากว่า ภาษาไทยเขาจะเรียกว่า รากลอย เป็นรากพิเศษ 

    รากลอย สามารถเจริญเติบโตได้โดยที่ สามารถเพาะเลี้ยงโดยที่ไม่ต้องใส่ฮอร์โมน แล้วก็คุณสมบัติที่ดีคือ เป็นรากที่มีพันธุกรรมคงที่ไม่ว่าเราจะเลี้ยงกี่รอบ ก็จะมีพันธุกรรมที่คงที่ พออาจารย์ได้รากลอยเริ่มต้นแล้ว ก็เริ่มค้นคว้าวรรณกรรมต่อว่า ทำยังไงถึงจะให้รากลอยนี้สร้างสารสำคัญที่เราสนใจ สารสำคัญในถั่วลิสงมีสารสำคัญหลายกลุ่ม จะมีกลุ่มที่สำคัญที่ถั่วลิสงสามารถสร้างได้จะเป็นกลุ่ม ภาษาอังกฤษ เรียกว่า กลุ่มสตีลบิน สารกลุ่มสตีลบิน ซึ่งสารกลุ่มนี้จะมีสารหลายตัวที่เป็นสารสำคัญ ๆ จะมีสาร 2 ตัว เด่น ๆ มากเลยที่รากลอยถั่วลิสงสามารถผลิตได้  

    ทีนี้จะทำอย่างไรดีถึงจะให้รากนั้นผลิตสารที่เราต้องการ อาจารย์ก็ใช้กระบวนการที่เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งโดยธรรมชาติ ซึ่งพืชในธรรมชาติที่ได้รับภาวะคุกคามจากสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นภาวะทางกายภาพหรือการได้รับเชื้อต่าง ๆ โดยธรรมชาติพืชก็มีกระบวนการป้องกันตัวเองเพื่อให้ตัวมันอยู่รอด เราก็อาศัยการเลียนแบบธรรมชาตินี้เลย โดยที่พอเราเลี้ยงรากลอย ก็หากระบวนการ หาวิธีการในการกระตุ้นให้รากลอยนี้ผลิตสารสำคัญที่เราสนใจ อันนี้เป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ 

คำถาม น้องนิสิตมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยนี้ อย่างไรบ้าง 

คำตอบโดย นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

    ก็สำหรับของตัวหนูเองนะคะ ก็คือได้เข้ามาก็คือจากงานวิจัยของอาจารย์ ก่อนหน้านี้ได้มีการใช้ตัวกระตุ้นอย่างที่อาจารย์กล่าวไป ก่อนหน้านี้ในห้องปฎิบัติการเองเราได้ใช้ตัวกระตุ้นที่หลาย ๆ ตัว เพื่อที่จะดูว่าตัวกระตุ้นใดสามารถที่จะกระตุ้นรากลอยให้ผลิตสารได้มาก ก็คือก่อนหน้านี้มีการใช้พาราควอตและก็แคดเมียม ร่วมกันกับเมทิลจัสโมเนต และก็ไซโคลเดกซ์ทริน ซึ่งสองสภาวะที่ได้ใช้มันสามารถที่จะกระตุ้น รากลอยของถั่วลิสงสามารถผลิตสารในกลุ่มสติลบีนได้เป็นปริมาณมาก  

    แต่ว่าด้วยพาราควอตเอง หรือแคดเมียมเองเป็นสารเคมีที่มีอันตรายและมีพิษ ก็เลยได้คุยกับอาจารย์และได้เห็นว่าเราควรจะศึกษาตัวกระตุ้นที่เป็นตัวกระตุ้นที่ปลอดภัยและก็สามารถที่จะกระตุ้นให้รากลอยผลิตสารได้ ก็คือไปทบทวนวรรณกรรมก็พบว่ามีตัวกระตุ้นนึงที่เป็นตัวไครโตซาน ซึ่งไครโตซานเป็นโพลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติแล้วยังมีความปลอดภัยแล้วก็จากหลาย ๆ งานวิจัย เขาก็สามารถที่จะกระตุ้นพืชให้ผลิตสารทุติยภูมิได้ ก็เลยเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่เราใช้ไครโตซาน ร่วมกันกับเมทิลจัสโมเนต และก็ไซโคลเดกซ์ทริน 

    สำหรับไครโตซาน เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติในเปลือกของกุ้งหรือแมลง ส่วนไซโคลเดกซ์ทรินเป็นปริมาณน้ำตาลที่มีการสังเคราะห์ขึ้น ร่วมกับเมทิลจัสโมเนตเป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น แต่ว่าสามารถหาได้จากธรรมชาติเพราะว่าเป็นกลไกลที่พืชใช้ปกป้องตัวเองอยู่แล้ว 

    จริง ๆ ตัวไครโตซานมีเขาเรียกว่าเป็นการแปรรูปมาจากเปลือกของแมลงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นลักษณะของไครโตซานเลย เราก็คือสามารถเอาไครโตซานที่มีการขายตามท้องตลาดมาทำการศึกษาได้เลยโดยที่ไม่ต้องใช้มาจากเปลือกกุ้ง 

คำตอบเพิ่มเติมโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  

    อาจารย์เสริมนิสิตนิดนึง อย่างไครโตซานเราเจอได้ในร้านค้าได้เลย ร้านขายต้นไม้ก็มีไครโตซาน เพราะว่าเกษตรกรสามารถใช้ไครโตซานนี้ไปสเปรย์ต้นไม้ได้เพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้มีความแข็งแรงก็เป็นสารที่ราคาไม่แพง น่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรมต่อไป ไซโคลเดกซ์ทริน ตอนนี้ก็มีบริษัทที่ผลิต คือเขานำน้ำตาลและนำมาเป็นวง จริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นสารสังเคราะห์เคมีคือตัวน้ำตาล  

    อย่างตัวน้ำตาลเป็นวง คือสารนี้ที่เราใส่ลงไป เราเลียนแบบภาวะธรรมชาติเวลาพืชได้รับการกระตุ้น ไครโตซานที่น้องนิสิตบอกจะเป็นตัวแทนของเปลือกแมลง อย่างเวลาที่พืชเขาได้รับการกัดกิจากแมลงพืชก็จะสร้างสารออกมาต้านทานเพื่อให้มันเจริญเติบโต ตัวนี้เองเราก็ใช้เป็นเหมือนตัวเลียนแบบธรรมชาติ ถ้าในกรณีที่เจอแมลงพืชจะตอบสนองโดยการสร้างสารสำคัญออกมาได้มากน้อยขนาดไหน เราก็เลยเอาตัวไครโตซานเลย จะไม่เอาแมลงละ ไม่เอาแมลงใส่ไปโดยตรงในรากลอยของเรา เราก็นำไครโตซานมาเตรียมตามความเข้มข้นที่เหมาะสมแล้วก็ใส่ลงไปเลย เหมือนพืชเจอแมลงได้เลยเพราะว่ามันคือตัวแทนของเปลือกแมลง 

    ส่วนไซโคลเดกซ์ทรินก็เหมือนกัน อย่างในเชื้อราบางชนิด ผนังเซลล์ของเชื้อราจะมีโครงสร้างของสารพวกน้ำตาลอยู่ที่ผนังเซลล์ ดังนั้น การใส่ไซโคลเดกซ์ทรินไปด้วยก็เหมือนเป็นตัวกระตุ้นพืชด้วย เมื่อพืชได้รับการกระตุ้นจากเชื้อต่าง ๆ มันก็จะแสดงการตอบสนองออกมา 

คำตอบเพิ่มเติมโดย : นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

    งานวิจัย ณ ปัจจุบันซึ่งเป็นตัวกระตุ้นในปัจจุบัน 3 ตัวที่พูดถึงไปอันนี้มีการพัฒนามา เรื่อย ๆ คือก่อนหน้านี้อาจารย์ก็มีนิสิตบัณฑิตศึกษาที่จบการศึกษาไปหลายคนแล้วทุกคนก็เริ่มต้นจากการหาวิธีในการกระตุ้นที่เหมาะสมไม่อันตราย งานนี้คือทำมากันหลายคนแล้วคือในส่วนของห้องปฏิบัติการ ทีนี้ในส่วนร่วมกับภาคส่วนข้างนอก การเลี้ยงรากลอยตรงนี้อาจารย์ก็ทำร่วมกับอาจารย์ที่ภาควิชาชีววิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์เขาก็จะเชี่ยวชาญของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เราก็จะมีห้องปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช อย่างนิสิตเตรียมสารอะไรต่าง ๆ ที่นี่ และก็ตอนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็จะไปทำที่คณะวิทยาศาสตร์ ก็เป็นความร่วมมือกันในมหาวิทยาลัย 

คำตอบเพิ่มเติมโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  

    ในส่วนต่างมหาวิทยาลัย ตอนนี้ที่อาจารย์ทำวิจัยด้วยจะเป็นอาจารย์ที่ราชภัฎฯ เป็นภาควิชาเคมี อาจารย์ก็จะมีส่วนร่วมในส่วนของสารที่พืชผลิตออกมาได้ และก็การวิเคราะห์โครงสร้างต่าง ๆ ว่าเป็นโครงสร้างที่เราสนใจจริง ๆ ไหม ดังนั้น คงไม่สามารถทำได้คนเดียว เพราะว่าการทำงานวิจัยจะต้องใช้หลายศาสตร์ผสมผสาน เราอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญไปทุกศาสตร์แต่ว่าเราจะประสานความร่วมมือกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ และก็ส่งนิสิตไปทำวิจัย 

คำตอบเพิ่มเติมโดย : นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

    ในเรื่องของโครงการนี้ ก็จะเป็นความร่วมมือของแลปด้วย อาจจะมีน้อง ๆ มาช่วยในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อราก แต่ว่าในส่วนของภาพรวมของแลปเองก็จะต้องทำเองคนเดียวเพราะว่ามันเป็นผลงานของเรา สำหรับตอนแรกที่ได้รับหัวข้อนี้ก็คือก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์มาแล้วในระดับปริญญาตรี แต่ว่าจะเป็นอีกโครงการนึง แต่พอมาทำโครงการนี้ก็เหมือนเป็นการต่อยอดจากโครงการที่แล้วแต่ว่าเข้ามาทำเต็มตัวมากขึ้น เพราะว่าเป็นการเริ่มตัวกระตุ้นตั้งแต่แรก มันจะเป็นไปได้ไหม แต่ว่าเราก็มีความคาดหวังว่า ถ้ามันมีตัวกระตุ้นมันมีตัวที่เลียนแบบธรรมชาติอยู่แล้ว เราก็คาดหวังว่ามันก็น่าจะประสบความสำเร็จในด้านหนึ่งที่เราคาดหวังเอาไว้เบื้องต้นค่ะ 

คำถาม ความคืบหน้าโครงการศึกษาวิจัย เป็นอย่างไรบ้าง 

คำตอบโดย : นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

    ในส่วนของโครงการที่ได้เริ่มไปแล้ว ก็จะมีส่วนของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอง มี contaminate  บ้าง มีอะไรบ้าง แล้วแต่สภาวะที่จะได้รับเพราะว่ารากบางทีเราไม่สามารถที่จะควบคุมมันได้ในการเจริญเติบโต อีกทั้งตัวกระตุ้นเองเราก็ต้องมานั่ง vary ตัวกระตุ้นอีกว่าตัวกระตุ้นที่เราใช้ความเข้มข้นมันก็ต้องมาดูว่าไคโตซานจะเหมาะสมกับสิ่งที่เรากระตุ้นไปไหม ว่าทำให้รากเกิดการ contaminate ก็ต้องมานั่ง vary นั่งแก้ปัญหากันไปในแต่ละจุดที่เกิดขึ้น 

    ในส่วนของงานวิจัยปริญญาโท น้องได้รับหัวข้อแล้วแต่ว่าสิ่งที่บัณฑิตศึกษาจะต้องเรียนรู้ก็คือ ต้องเรียนรู้เริ่มต้นเลยตั้งแต่ถ้าเราจะกระตุ้นตัวนี้อาจารย์จะไม่มีสูตรสำเร็จรูปให้ว่าใช้ความเข้มข้นนี้และแค่มาทำตามที่อาจารย์บอก อย่างในส่วนของนิสิตเอง นิสิตก็จะต้องไปค้นคว้าก่อน ค้นคว้าวรรณกรรมต่าง ๆ  ว่ามีงานวิจัยอื่นไหม ที่เขาใช้ตัวกระตุ้นแบบนี้และเขาใช้ในความเข้มข้นอะไร ก็จะเป็นหน้าที่ของบัณฑิตศึกษาในการที่เรียนรู้ และเป็นการฝึกฝนด้วย ฝึกฝนด้วยวิธีการคิดก็มาลองผิดลองถูก ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็จะมีการปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ” 

คำถาม สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ รากลอย มีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง 

คำตอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  

    ในส่วนที่เราสนใจมากตั้งแต่แรกเลย เราสนใจสารสำคัญที่รากลอยผลิตขึ้น เราก็ใช้ตัวรากลอยเป็นเนื้อเยื่อที่จะผลิตสารให้กับเราอันนี้คือวัตถุประสงค์หลัก ดังนั้น สารที่ได้จากการเพาะเลี้ยงรากลอย  เราจะโฟกัสที่สารพวกนี้เพราะว่า สารเคมีบางชนิดอาจจะไม่สามารถสังเคราะห์ได้ คือ สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอย่างเช่นพืช เขาก็มีความสามารถของเขา เขาเก่ง เขาอาจจะมีกระบวนการในการสร้างสารสำคัญขึ้นมา ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถสังเคราะห์โดยตรง พอเราได้สารตัวนี้มา 

    จากที่ได้ทบทวนวรรณกรรมกันมาความสำคัญของสารตัวนี้นอกจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยังมีฤทธิ์สำคัญอื่น ๆ อีกด้วย อย่างเช่น ฤทธิ์ของการเป็นสารต้านมะเร็ง แต่ว่ายังมีงานวิจัยไม่เยอะมาก เพราะว่าเป็นสารที่ค่อนข้างใหม่ด้วย และก็พบในถั่วลิสง ในงานวิจัยก็เลยยังไม่เยอะในส่วนของการนำไปใช้ในเรื่องของการรักษาโรค จะเป็นงานวิจัยในห้องปฎิบัติการ  

    ดังนั้น เราก็หวังว่าถ้าเราสามารถผลิตสารกลุ่มนี้ได้ในปริมาณที่มาก ถ้าในธรรมชาติถ้าเราไม่ได้กระตุ้นมันพืชก็จะไม่ได้ผลิตออกมาเยอะมาก แล้วเราก็ใช้กระบวนการกระตุ้นในการทำ ให้มันผลิตออกมาเยอะ ๆ แล้วเราก็จะไปทำให้มันบริสุทธิ์ นี่คือความคาดหวังในอนาคต คือไปแยกสารสำคัญให้บริสุทธิ์เพื่อที่จะเอาสารสำคัญ เอาไปตรวจสอบฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ คือเบื้องต้นเลยก็ได้มีการส่งสาร มันยังไม่ได้เป็นสารบริสุทธิ์เป็นสาร
รวม ๆ ที่พืชสามารถผลิตได้แต่ว่าเราตรวจสอบแล้วว่ามันมีสารที่เราสนใจอยู่ ในปริมาณระดับหนึ่ง เอาสารตัวนี้ส่งไปให้แลปอื่นเขาทำงานวิจัยเกี่ยวกับเซลล์มะเร็ง ก็พบว่ามีฤทธิ์ค่อนข้างดี ก็เป็นแนวโน้มที่ดีที่เราจะต่อยอดงานวิจัยต่อไปเพื่อที่จะนำสารนี้ไปใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคในอนาคตได้ 

คำถาม ความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อยอด
คำตอบโดย : นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

    จากสิ่งที่น่าจะไปต่อได้ มีหลากหลายศาสตร์มากอย่างที่ท่านอาจารย์บอก หนึ่งก็คือต้านเซลล์มะเร็ง อีกทางหนึ่งที่ถัดจะเซลล์มะเร็งไป ก็คือลงในสัตว์ทดลอง ซึ่งถ้าผ่านในส่วนของสัตว์ทดลองไปได้จะเข้าไปสู่ระดับคนแล้ว ซึ่งมันจะเป็นงานวิจัยที่ถือว่าเป็นความสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับคนจริง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องคิดค้นหาคำตอบอีก ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน 

    สำหรับงานในขอบเขตที่ตั้งเอาไว้ ก็น่าจะใช้เวลา 1  2 ปี ในการที่จะจบโครงการที่เราทำในส่วนของScope งาน แต่ถ้าหลังจากนี้ก็คือต่อยอด อาจจะกำหนดระยะเวลาไม่ได้เพราะว่าเราก็ต้องลองผิดลองถูกกันต่อไป ว่างานจะไปจบที่ไหน เพราะว่างานในความรู้สึกตัวเอง งานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างมีความก้าวหน้าที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลว่าสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด เพราะว่ามันมีได้ตั้งหลายศาสตร์ ไม่ได้มีแค่ว่าความสามารถของสารที่เราสนใจอย่างเดียว ยังมีในส่วนของโปรตีนหรือว่าในส่วนอื่น ๆ 
ที่เรายังค้นพบใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ก็อาจจะใช้เวลาอีกนานเลยกว่าจะจบโปรเจค 

คำตอบเพิ่มเติมโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  

    ในเบื้องต้น สำหรับหัวข้อวิจัยนี้เลยที่เป็นตัวกระตุ้นนี้ก็ที่ตั้งเป้ากันไว้ก็ประมาณอย่างที่นิสิตบอก ก็ตามระยะเวลาที่นิสิตศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทำวิจัยจริง ๆ ประมาณสักปี ปีครึ่ง ถึงสองปีประมาณนี้ ซึ่งตอนนี้นิสิตก็มาถึงเกินครึ่งทางแล้ว ก็ได้ผลที่น่าสนใจ ได้ตัวกระตุ้นที่เหมาะสม ปริมาณสารหลังจากกระตุ้นแล้วก็เป็นปริมาณสารที่เราตรวจสอบแล้วพึงพอใจ นี่เป็นในส่วนเบื้องต้น 

    คือจริง  ๆ สารสำคัญในที่รากลอยถั่วลิสงเด่น ๆ เลย 2 สาร ชื่อ transarachidin-1 เป็นชื่อทางเคมีกับอีกตัวนึงชื่อ transarachidin3 ซึ่งมีปริมาณสารค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ที่ทำวิจัยเบื้องต้นเลยพยายามจะแยกให้บริสุทธิ์ แยกทั้ง 2 ตัวนี้ออกมา และจะนำแต่ละตัวแยกกันลองไปตรวจสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและเปรียบเทียบกันอีกทีหนึ่ง ก็คาดว่ามันมีฤทธิ์บางอย่างที่อาจจะแตกต่างกัน เราอาจจะนำไปประยุกต์ได้เหมาะสมต่อไป อย่างเช่นตัวที่ 1 มีฤทธิ์สำคัญ สมมติทางด้านมะเร็งอาจจะโฟกัสไปทางนั้นอันนั้นก็ยังอีกยาวไกล อีกสักระยะหนึ่งที่จะสามารถตรวจสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของแต่ละตัวได้ 

    ต้องขอขอบคุณทุนวิจัยที่ให้โอกาสให้มีการพัฒนาต่อยอดให้โครงการที่เราสนใจไปในอนาคต  อีกทั้งต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ทำความร่วมมือกับโครงการนี้” นางสาวภัทราภร ฉายจรุง นิสิต ป.โท สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว 

    เช่นเดียวกับนิสิต ที่สำคัญมากเลยเราได้รับโอกาสที่ดีจากทุนของ สวก. จริง ๆ ก็เป็นการส่งเสริมที่ดีมาก ส่งเสริมให้นิสิตบัณฑิตศึกษาได้ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาต่อยอดทางด้านการเกษตร ซึ่งเราก็เชื่อว่างานด้านการเกษตรก็เป็นงานสำคัญของประเทศ ก็ขอบคุณทุนจาก สวก.มาก  

    นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอบคุณภาควิชาชีวเคมีที่ให้ความอนุเคราะห์ทุก ๆ อย่างเลยในการทำวิจัยไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ และห้องปฎิบัติการต่าง ๆ ในการทำวิจัย อันนี้ก็จะเป็นตัวที่ส่งเสริมให้นิสิตบัณฑิตศึกษาจบการศึกษาได้ตามเป้าหมาย และส่งเสริมให้งานวิจัยของอาจารย์สามารถดำเนินต่อไปได้ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ Facility ไม่ครบครัน งานวิจัยอาจจะดำเนินไปยาก ก็ขอขอบคุณทุก ๆ ภาคส่วนเลยที่มีส่วนทำให้งานวิจัยนี้สามารถดำเนินต่อไปได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว   

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon