นักวิจัย มน.พบราแมลงชนิดใหม่ของโลก “เผ่าไทยเอ็นซิส” มีสารสกัดช่วยรักษาสิว

 

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิว ๆ ในอนาคตข้างหน้าอาจจะได้พบกับทางเลือกใหม่ในการรักษาสิว โดยล่าสุดมีความร่วมมือกันของนักวิจัยระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้สนใจทำการศึกษาเกี่ยวกับราแมลงชนิดใหม่ของไทย “เผ่าไทยเอ็นซิส” ผลการศึกษาพบว่า มีสารสกัดที่น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญ และมีคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาที่อาจนำไปทำการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาสิวต่อไปได้ ลองมาติดตามรายละเอียดที่ทีมงานได้ไปร่วมพูดคุยกับทีมวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย สุพรม  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร ล้ำเลิศธน อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายวิษณุ สอนยศ นิสิต
ป.เอก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กันเลย

 

คำถาม : จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นอย่างไร

คำตอบ : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร ล้ำเลิศธน อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “ผลงานนี้ถ้าเริ่มต้น ก็ต้องย้อนไปตอนปี 2559 ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเห็ดและรา ซึ่งตัวดิฉันเองเป็นผู้อำนวยการอยู่ เรามีความร่วมมือในการทำวิจัยกับ สวทช. ซึ่งนำโดย ดร.เจนนิเฟอร์ เหลืองสะอาด และก็คุณสุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของราแมลงที่ป่าชุมชนบ้านเผ่าไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

    ตัวรานี้ก็คือตัวที่ทำให้เกิดโรคในแมลงซึ่งโดยปกติแล้วก็จะใช้เป็นสารที่ควบคุมกำจัดศัตรูพืชพวกแมลงต่าง ๆ โดยเป็นมาจากธรรมชาติก็จะปลอดภัย เราศึกษาความหลากหลายที่ป่าชุมชนแห่งนั้นใช้เวลาประมาณสัก 1 ปีครึ่ง ได้ข้อมูลความหลากหลายของราแมลงหลายชนิด รวมทั้งพบว่า ป่าชุมชนแห่งนั้นมีสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เป็นราแมลงชนิดใหม่ที่ไม่มีการรายงานมาก่อนในโลกนี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกนี้ เราก็เลยตั้งชื่อให้พ้องกลับชื่อของป่าชุมชน เราก็เลยตั้งชื่อว่า โพลีเซ็บฟาโรมัยซิส เผ่าไทยเอ็นซิส เพื่อบอกว่ามาจากป่าชุมชนแห่งนี้

    จากนั้นเนื่องจากราแมลงอย่างที่บอกเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมักจะมีสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลาย สามารถนำมาเป็นยาได้ ก็เลยสนใจที่จะลองศึกษาดูว่าเป็นสิ่งชีวิตที่ใหม่และมีฤทธิ์ที่ดีหรือเปล่า
ก็เลยไปขอทุนจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาหรือว่า สกอ.เดิม มาทำวิจัยเบื้องต้น ทำการทดสอบฤทธิ์เบื้องต้นของราแมลงชนิดนี้ก็พบว่ามีศักยภาพที่ดี มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์หลายชนิด และก็มีฤทธิ์ต้านลูกน้ำยุงลายได้ด้วย เราก็คิดว่าเบื้องต้นดีคิดว่าจะต้องศึกษาต่อก็เลยได้มาปรึกษากับอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ ก็คืออาจารย์หนึ่งฤทัย สุพรม”

คำตอบเพิ่มเติม : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย สุพรม  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “หลังจากที่ได้รับโจทย์ต่อเนื่องกันมา ทางเราก็เลยได้ยื่นขอทุนเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้
โดยได้รับความอนุเคราะห์จากงบประมาณรายได้ของคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2562 ประกอบกับได้รับบัณฑิตมาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกก็คือนายวิษณุ สอนยศ เข้ามาร่วมทีมวิจัยกัน โดยทำการศึกษาก็คือว่าเป็นการศึกษาองค์ประกอบเพื่อหาว่าสารตัวไหนกันแน่ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ นอกจากนี้ พบว่า มีฤทธิ์ในการยั้บยั้งเชื้อหลายชนิดรวมถึงเชื้อดื้อยาด้วย ซึ่งในงานวิจัยครั้งนี้ เราก็เลยขยายการทดสอบทางชีวภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ก็คือมีเรื่องของฤทธิ์ของการต้านการอักเสบ”

คำตอบเพิ่มเติม : โดย นายวิษณุ สอนยศ นิสิต ป.เอก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “การศึกษาเบื้องต้นฤทธิ์การต้านจุลชีพ พบว่า สารสกัดหยาบจากเชื้อ โพลีเซ็บฟาโรมัยซิส เผ่าไทยเอ็นซิส มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อสิว หรือเชื้อ โพรพิโอนิแบคทีเรี่ยม แอคเน่ และก็เชื้อดื้อยา และก็จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีก็พบสารที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อ โพรพิโอนิแบคทีเรี่ยม แอคเน่ และนอกจากนั้น เราก็ยังศึกษากลไกลนึงของการเกิดสิวอักเสบก็พบว่าสารที่เราแยกได้มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบด้วย

    เราต้องศึกษาการนำไปใช้ในคน อันนี้มีแนวโน้มที่จะใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต้านสิวได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้านสิวปัญหาของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันก็คือเรื่องของการระคายเคือง และก็เรื่องของที่เชื้อสิว โพรพิโอนิแบคทีเรี่ยม แอคเน่ ก็มีการดื้อต่อยามากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะศึกษาต่อไปคงจะเป็นเรื่องของการที่ดูว่าถ้าเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อยา สารตัวที่น้องวิษณุแยกได้ จะต้านเชื้อดื้อยาได้หรือเปล่า และสารตัวนี้ระคายเคืองต่อผิวหนังหรือเปล่า ก็คงจะเป็นประเด็นก่อนที่จะมีการศึกษาถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ในคนต่อไป

    เราก็จะใช้ห้องปฎิบัติการทางด้านเคมี ที่ตึกเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และก็ศูนย์เครื่องมือคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมไปถึงศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเห็ดและรา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และก็ได้รับความอนุเคราะห์จากไอโอสกรีนนิ่งยูนิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเครื่องสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และก็คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่สนับสนุนในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

คำถาม : ความรู้สึกในฐานะนิสิต ป.เอก ที่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าว เป็นอย่างไร

คำตอบ : โดย นายวิษณุ สอนยศ นิสิต ป.เอก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “สำหรับความรู้สึกของผมก็คือ ตอนแรกผมสนใจที่จะเรียนเคมี เพราะเป็นสาขาที่สนใจมาตั้งแต่สมัยมัธยมและก็เมื่อได้รับโจทย์นี้มาเป็นโจทย์ที่ท้าท้ายในการเรียนระดับปริญาเอกของผมเลยครับ เพราะว่าเชื้อราชนิดนี้เป็นราแมลงชนิดใหม่ และยังไม่มีการรายงานในเรื่องของฤทธิ์ทางชีวภาพหรือว่าองค์ประกอบทางเคมีก็เลยจึงเลือกที่จะสนใจในงานที่จะทำวิจัยชิ้นนี้”

คำถาม : ในมุมมองของอาจารย์ที่ปรึกษาคิดว่า การศึกษาวิจัยนี้ มีความท้าท้ายสำหรับนิสิต ป.เอก
อย่างไรบ้าง

คำตอบ : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร ล้ำเลิศธน อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    อาจารย์คิดว่าเป็นงานที่ท้าท้ายกับเด็กนิสิตสาขาเคมี หมายความว่า เราทำงานกับเชื้อราเขาจะต้องเลี้ยงเชื้อราให้เป็น และก็ควบคุมสภาวะในการเลี้ยงเชื้อรา สมมติว่าเอาสารเคมีจากสมุนไพรเราก็ไปตัดสมุนไพรมาแล้วมาทำ แต่อันนี้เขาจะต้องเลี้ยงเชื้อราในห้องแลปแต่เขาเป็นเด็กที่เรียนสาขาเคมี ไม่ใช่สาขาชีววิทยา เพราะฉะนั้นช่วงแรกเขาก็ลำบากอยู่เหมือนกันที่ต้องมาเรียนเทคนิคทางจุลชีววิทยาใหม่หมดเลย ช่วงแรกเราก็ทำเป็นแบบไม่เห็นเวลาเขาลำบาก ยังไงคุณก็จะต้องทำให้ได้เพราะว่ามันก็เหมือนไม่ใช่ทางของเขา แต่ว่าก็ทำให้ได้บูรณาการกับอีกสาขาหนึ่ง อาจารย์ก็คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีของนิสิตปริญญาเอก

คำตอบเพิ่มเติม : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย สุพรม  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ทั้งคู่ เพราะว่าโดยส่วนตัวเดิมทีจะทำด้านเกี่ยวกับพืชสมุนไพรอันนี้ก็เป็น
โปรเจคแรกที่ปรับเปลี่ยนของวัตถุดิบเป็นของเชื้อราแมลง ส่วนตัวของน้องนิสิตเองก็คือ เขาได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ค่อนข้างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้ฝึกมือเยอะขึ้น

    มันเป็นสิ่งที่ท้าทาย จริง ๆ ทุกศาสตร์ทางเรามองว่ามันเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดแต่การเริ่มต้นในตอนแรกมันก็จะมีความยากลำบากในแต่ละศาสตร์คือจะมีลักษณะเฉพาะทางของแต่ละสาขา ก็ค่อย ๆ ปรับตัว เรียนรู้ และก็อาศัยการปรึกษาพูดคุยกันอยู่เสมอ”

คำถาม : สิ่งที่ทีมวิจัยจะทำการศึกษาต่อยอด จะเป็นไปในลักษณะใด

คำตอบ : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย สุพรม  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    จริง ๆ ตอนนี้ก็มองในเรื่องของการบูรณการระหว่างศาสตร์ คือทางเราอาศัยการศึกษาในเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีซึ่งอาจจะเป็นคีย์มาร์กเกอร์ ในการที่เราจะบอกกับใครได้ว่าตัวไหนออกฤทธิ์อย่างไร ตัวไหนศึกษาอย่างไร ตรงนี้เป็นตัวรองรับ และก็เป็นตัวตอบคำถาม ดังนั้น ถ้าเราศึกษาตรงนี้ให้แน่น ๆ มันก็สามารถช่วยสนับสนุนหลากหลายงานได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของราแมลงที่อาจารย์ได้กล่าวไปตอนเริ่มต้นว่าในเรื่องของความหลากหลายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นในอนาคตถ้าสมมติว่าเราได้มีโอกาสทำต่อ เราก็จะศึกษาเพื่อที่จะเก็บเป็นไลบรารี ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะใช้ข้อมูลศาตร์ทางด้านของเคมีเข้าไปช่วยของการวิเคราะห์ การจัดแยกสายพันธุ์ หรืออาจจะศึกษาในเรื่องของฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบทางเลือกในอนาคต”

คำตอบเพิ่มเติม : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร ล้ำเลิศธน อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “ก็ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจแต่อยากจะย้อนไปเรื่องของความร่วมมือว่า เราไม่รู้จักกันมาก่อน ก่อนโปรเจคนี้ คือเรารู้จักกันเพราะว่าเรามาทำโปรเจคร่วมกันอันนี้เป็นสิ่งที่ดีของการทำงานบูรณาการ เราก็กลายเป็นเพื่อนคุยกันในเรื่องอื่น ๆ เรื่องออกกำลังกายไป อันนี้ก็เป็นข้อดีของการบูรณาการเราทำคนเดียวคงไม่ได้ และก็ในส่วนของสิ่งที่อาจารย์อยากทำต่อแล้วเคยชวนกันไปที่ สวทช. นั่งคุยกันก็คือว่า อย่างถ้าเป็นพืชสมุนไพรเราก็ปลูก และก็เก็บมา แต่ในส่วนของราแมลงเราเลี้ยงในห้องแลป ตอนแรกเราทำทดลองในเบื้องต้นเราเลี้ยงในห้องแลปในภาชนะขนาดประมาณ 250 ลิตร (ml) เล็ก ๆ แล้วพอน้องวิษณุมาเราก็ทำใหญ่ขึ้น เราทำ 3 – 5  ลิตร แต่ถ้าในระดับอุตสาหกรรม เชื้อราตัวนี้ฤทธิ์ดีจริง ๆ อย่างที่ตีพิมพ์ไป ศักยภาพค่อนข้างดี เราต้องคิดในระดับอุตสาหกรรมเช่น เลี้ยงในถังหมัก 50 ลิตร 100 ลิตร ซึ่งจะไม่เหมือนกับการทำในห้องแลป สวทช.จะต้องมีหน่วยงานที่ทำถังหมักใหญ่ ๆ วิเคราะห์ว่า ถังใหญ่เราต้องปรับอะไร สภาวะต้องเป็นแบบไหนที่คุยกันว่าอยู่ตรงนั้นเราคงต้องการนิสิตปริญญาเอกสาขาจุลชีววิทยาไม่ใช่สาขาเคมีแล้ว แต่ว่าต้องหาอีกสัก 1 คน ก็เป็นสิ่งที่อยากทำต่อไป”

คำตอบเพิ่มเติม : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งฤทัย สุพรม  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “นับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ที่ยังมีแหล่งวัตถุดิบที่น่าสนใจที่เรายังทำต่อได้อีก และอย่างเช่นที่ท่านอาจารย์สุภาพรกล่าวไป ถ้าเรามองในแง่ของอุตสาหกรรมพอผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้นอันนี้ก็ถือเป็นการท้าทายว่าองค์ประกอบที่อยู่ในนั้น พอเราเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พวกสารบ่งชี้ที่เปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ ยังจะเหมือนเดิมไหม ก็เป็นคำถามให้เราติดตามและทำในลักษณะการควบคุมคุณภาพต่อไปด้วย”

คำตอบเพิ่มเติม : โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร ล้ำเลิศธน อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “ฝากเรื่องของราแมลงถ้าเกิดได้ยินแล้วคืออะไร ก็ลองค้นหาทาง Google ดูได้ ราแมลงก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพ และในสถานวิจัยของเราที่ร่วมกับ สวทช.มีราแมลงอีกมากมายหลายชนิด เราศึกษาความหลากหลาย เราพบอีกหลายชนิดแต่การศึกษาให้ลึก ๆ ลงไป ถึงสารเคมีที่ออกฤทธิ์ สารสำคัญในราแมลงยังมีไม่มากนัก ถ้าใครอยากทำการศึกษาราแมลงหรือสนใจที่จะมาคุยกันก็ติดต่อมาได้ที่สถานวิจัยความเป็นเลิศทางเห็ดและรา ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์”

คำถาม : ในฐานะที่เป็นนิสิต ป.เอก มีหลักคิดของการเรียน อย่างไรบ้าง

คำตอบ : โดย นายวิษณุ สอนยศ นิสิต ป.เอก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    “การเรียนปริญญาเอก จะต้องมีความอดทนและพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และจะต้องเป็นคนที่มีความขยันรวมถึงใฝ่รู้ สำหรับปัญหาอุปสรรคก็มีค่อนข้างเยอะเลย และด้วยความที่เราปริญญาเอกด้วย และก็จะต้องพยายามหาสาเหตุว่าสิ่งที่ผิดพลาดสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดมาจากอะไร และพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ตอนแรกก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน จากสิ่งที่เราพบเจอ ถ้าสิ่งนั้นเราอาจจะยังหาคำตอบไม่ได้ก็ปรึกษาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อให้การทดลองนั้นเป็นไปด้วยดี เรื่องท้อก็มีบ้าง แต่เราต้องพยายามที่จะจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ อาจจะมีการออกกำลังกายหรือว่าหากิจกรรมอย่างอื่นทำ แล้วก็พอรู้สึก OK ก็กลับมาทำงานตามปกติให้ได้”

:::: ข้อมูล จากบทคัดย่อ ::::

ฤทธิ์ต้านเชื้อ โพรพิโอนิแบคทีเรี่ยม แอคเน่ (Propionibacterium acnes) และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ของสารสกัดและองค์ประกอบจากราแมลงชนิดใหม่ โพลีเซ็บฟาโรมัยซิส เผ่าไทยเอ็นซิส (
Polycephalomyces phaothaiensis)

 

In Vitro Antibacterial and Anti-Inflammatory Effects of Novel Insect Fungus Polycephalomyces phaothaiensis Extract and Its Constituents against Propionibacterium acnes

    เชื้อ Propionibacterium acnes มีบทบาทสำคัญในการเกิดสิวและภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบมากที่สุดของผิวหนังบริเวณที่มีรูขุมขนหรือต่อมไขมัน (pilosebaceous unit) ในการศึกษาครั้งนี้ จึงสนใจทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของราแมลง Polycephalomyces phaothaiensis ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. acnes และต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำโดยเชื้อ P. acnes  ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวได้

    จากการศึกษาพบว่าสามารถแยกองค์ประกอบได้สารบริสุทธิ์จำนวน 7 สาร เมื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ P. acnes ของสารสกัดและสารที่แยกได้ โดยอาศัยวิธี agar diffusion และ broth dilution พบว่าสารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตทที่สกัดได้จากอาหารเลี้ยงเชื้อราแมลงดังกล่าว พร้อมด้วยสารบริสุทธิ์ที่ชื่อว่า cordytropolone (1) และ stipitalide (2) แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ P. acnes ได้ดีที่สุด ในขณะสาร (+)-piliformic acid (3) ที่พบเป็นองค์ประกอบในสารสกัดชั้นเดียวกันนี้แสดงฤทธิ์ต้าน P. Acnes อย่างอ่อนๆ

    สำหรับการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตทและสารที่แยกได้จำนวน 3 สารนั้น (13) ได้อาศัยการวัดปริมาณของ pro-inflammatory cytokines ได้แก่ IL-1b, IL-6 และ TNF-a ในเซลล์ THP-1 ที่ถูกกระตุ้นด้วย heat-killed P. acnes ผลการศึกษาพบว่า สารตัวอย่างที่ทดสอบแสดงประสิทธิภาพในการยับยั้งการผลิต pro-inflammatory cytokines อย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลผลการศึกษาที่ได้นี้นำเสนอให้เห็นเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับราแมลงชนิดใหม่ P. phaothaiensis และองค์ประกอบทางเคมีของราแมลงดังกล่าว คือ สาร  cordytropolone (1) และ stipitalide (2) ที่มีคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาที่อาจนำไปทำการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาสิวต่อไป

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon