อาจารย์ คณะสังคมฯ ม.นเรศวร เผยเคล็ดลับ Work from home ทำงานที่บ้านอย่างไร ไม่ให้เครียด 

     เป็นที่ทราบกันดีว่า ไวรัส Covid-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในแต่ละพื้นที่งดการออกมาอยู่รวมกันจนกว่าสถานการณ์ของโรคนี้จะหยุดการแพร่ระบาดได้ สิ่งที่หลายคนต้องพบเจอหลังจากที่ออฟฟิศมีนโยบายให้ทำงานอยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า Work from home  หลายคนอาจเกิดคำถามว่า การปรับตัว ปรับใจ ปรับชีวิตการทำงาน ด้วยการนำงานกลับมาทำที่บ้านอย่างจริงจัง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ การทำงานแบบ Work from home มีข้อดีและข้อเสียเป็นอย่างไร 

     ผศ.ดร.กันตพัฒน์ อนุศักดิ์เสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เวิร์คฟอร์มโฮม (Work from Home)  ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ก็จะมีอยู่ 5 ข้อ อย่างแรก เราต้องทำข้อกำหนดมาก่อน และลิสต์มาก่อนว่าวันนี้ เราต้องทำอะไรบ้าง วางแผนการทำงานในวันนี้ก่อน  

     ข้อที่สองคือ เราต้องดูเรื่องของลำดับความสำคัญก่อนหลัง ว่างานเราอันไหนควรจะทำก่อน อันไหนควรจะทำหลัง แล้วมีระยะเวลากำหนดงานต้องส่ง คืออะไรบ้าง 

     ข้อที่สาม อยากให้ลองสร้างบรรยากาศ ให้เหมือนกับที่เราอยู่ที่ทำงาน เพื่อจะบอกให้ร่างกาย จิตใจของเราได้รับรู้ว่า เราต้องทำงานแล้ว แต่เราก็สามารถทำได้เหมือนกับชีวิตประจำวันคือ การตื่นนอน อาบน้ำ ทานข้าว ทำทุกอย่างเหมือนกับที่ทำงาน  

     ข้อที่สี่ คือการกำหนดระยะเวลาที่จะทำ และเวลาที่จะพักด้วย ถ้าเราทำงานที่บ้าน เราก็สามารถที่จะพักผ่อนได้เช่นเดียวกัน  

     ข้อที่ห้า คือ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์  เพื่อที่จะทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ในยุคของเราก็เข้าสู่ในเรื่องของดิจิตอล ถ้าประชุมทางออนไลน์ ด้วยระบบทีม Microsoft Skype  ใช้การสอบผ่านระบบออนไลน์ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้พัฒนาทักษะความสามารถในเรื่องนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราสามารถใช้พัฒนาทักษะของเราได้ 

     ในเรื่องของการปรับตัวนั้น   ผศ.ดร.กันตพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกๆการปรับตัว จะเกิดทั้งข้อดีและข้อเสีย  ถ้าเราปรับตัวได้ ข้อดีที่จะเกิดขึ้นก็คือ การที่เราWork from Home  ไม่ต้องเสียเวลาที่เคยต้องเดินทาง  ทำให้มีเวลาเหลือเพิ่มขึ้น หลายคนเมื่อไม่ต้องเดินทาง ก็สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ อย่างปกติคนในกรุงเทพ ใช้เวลาในการเดินทางต่อวัน 2-4 ชั่วโมง ถ้าหากปรับเวลานั้นมาใช้เวลาในการ Work from Home  พบว่ามีประสิทธิภาพของการทำงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 50 %  ได้ 

     ข้อที่สอง ในการปรับตัว เมื่อเราอยู่ที่บ้าน ไม่มีใครมารบกวนเวลาการทำงานของเรา เราสามารถจะมีการปรับโฟกัสงานหรือจดจ่ออยู่กับงาน ยกตัวอย่างเช่น ในบริษัทของแบรนด์อินไซต์ ได้ลองทำWork from Home  เพื่อที่จะดูว่าการปรับตัวของพนักงาน ตั้งแต่ปี 2017 ก็พบว่า เขาเจอผู้ร่วมงานน้อยลง  แต่ทำให้การสื่อสารดีมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการทำงานของบริษัท มีผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิมถึง 20 %  เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา   

     ข้อต่อมา เมื่อมีการปรับตัวที่เหมาะสม พนักงาน 36 % จะยอมให้ขึ้นเงินเดือนน้อยลง หมายความว่าทางบริษัทก็ลดค่าใช้จ่าย และพนักงาน 30 % ก็รู้สึกว่าเขายินยอมที่จะอยู่ที่บ้าน เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย ได้รับค่าตอบแทนน้อยลง  เมื่อเราปรับตัวได้ดีแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้น เราพบว่าพนักงาน 15 % รู้สึกว่าการนั่งทำงานอยู่ที่บ้านทำให้ความเครียดลดน้อยลง ทำให้ชีวิตและการทำงานของเขา มีความสมดุลมากขึ้น มีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เป็นข้อดีของการปรับตัวที่ดีขึ้น 

     ส่วนข้อเสียของการทำงานแบบ Work from home ก็มีเช่นเดียวกัน คือ  

     ข้อที่หนึ่ง เสียสมาธิค่อนข้างง่าย สถานที่คับแคบ การทำงานที่บ้านทำให้ไม่มีความรู้สึกว่าอยากทำงาน  การรบกวนของสมาชิกอยู่ในบ้าน ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น 

     ข้อที่สอง ความสะดวกสบายไม่เท่ากับการทำงานที่โต๊ะ ที่ทำงานจะมีครบมากกว่า รวมถึงระบบออนไลน์ที่บ้านเอง ก็อาจจะไม่พร้อมสำหรับการใช้ทำงาน 

     ข้อที่สาม มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แม้จะไม่มีภาระเรื่องค่าเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแล้วก็ตาม การทำงานที่บ้านมีการใช้ไฟฟ้า เปิดแอร์ เปิดพัดลม ทั้งค่าไฟที่จะต้องเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานทั้งวัน ละจะมีภาระด้านอื่นๆที่ตามมา 

     ข้อที่สี่ ปัญหาสุขภาพร่างกาย และจิตใจ เมื่อทำงาน Work from home ทั้งเหงาและสุขภาพจิตเสีย เพราะไม่ได้พบเจอพูดคุยกับผู้คน ทำให้เหงา ขาดการเข้าสังคม  

     ผศ.ดร.กันตพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในสถานการณ์นี้ ทุกคนต้องลองปรับตัวในทำงาน เพื่อทำให้การทำงานที่บ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เครียด ในขณะเดียวกันการรับมือข่าวสาร เพื่อที่จะลดภาวะความเครียดจากข่าว  ทั้งข้อมูลข่าวสารที่เรารับเข้ามาแล้วส่งผลกดดันกับชีวิต  ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดการเร้าของอารมณ์ สิ่งเหล่านี้เราต้องมีการบริหารจัดการในการรับข่าวสาร  ลดการเสพ และรับข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ให้เพิ่มมากขึ้น  อย่ารับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว เพราะจะทำให้เกิดคาวามเครียด หากิจกรรมงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย ระมัดระวังการแชร์ข้อมูลในสื่อโชเชียลมีเดียต่างๆ หยุดส่งต่อความคิดด้านลบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดและโรคซึมเศร้าตามมา 

 

ขอขอบคุณภาพจาก : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon