คำถาม : ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจตามศาสตร์ด้านเภสัชกรรมจากข่าว กรณีที่มีการทดลองใช้ยาโลพินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (LPV/r), ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir), รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยรักษาผู้ติด โรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีลำดับเหตุการณ์ อย่างไรบ้าง
“ปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ที่เมืองอู๋ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเราทราบกันแล้วว่า เป็นเชื้อไวรัสที่พบใหม่ ยังไม่มีแนวทางการรักษามาก่อน อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยของจีนทำการศึกษาจึงทราบว่าเป็น เชื้อไวรัสในกลุ่ม ของ Coronavirus ซึ่งเป็นเชื้อที่มนุษย์เราค้นพบยาในการรักษาและมีรายงานการวิจัย ทั้งในหลอดทดลองและในมนุษย์ ทางทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักวิจัยในจีน จึงพยายามคิดค้นสูตรยา จากข้อมูลจากงานวิจัยที่เคยมี รวมถึงพัฒนางานวิจัย หายาที่เคยมีอยู่แล้วและมีฤทธิ์ต่อเชื้อ Coronavirus และ COVID-19 จึงได้นำมาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยที่ติด COVID-19 ซึ่งก็มียาหลายตัวที่ได้มาทดลองใช้ เช่น Lopinavir/ritronavir, interferon, Favipiravir เป็นต้น
พอข้อมูลจากประเทศจีนในช่วงแรกแจ้งกับทั่วโลกว่า Lopinavir/ritonavir ใช้ได้ผลในการช่วยยับยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ เมื่อพบผู้ป่วยรายแรก ๆ ของไทย ทางทีมแพทย์ของไทย จึงได้คิดค้นสูตรยา จากข้อมูลที่มีอยู่จากจีน และ ข้อมูลเดิมจากยา Oseltamivir ที่สามารถยับยั้งเชื้อในกลุ่ม Coronavirus ได้ จึงได้นำมาใช้กับผู้ป่วย และได้ผล จึงได้มีข่าว ทางทีมแพทย์ไทยคิดค้นสูตรยาต้านไวรัส COVID-19 ได้สำเร็จ ต่อมา ทางจีนได้ให้ข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมว่า ยา Favipiravir ได้ผลดีในการยับยั้งเชื้อ COVID-19 จึงให้ข้อมูลกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย จึงได้นำมาเป็นสูตรยาในการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับประชาชนได้ เช่น กรมควบคุมโรค ตาม link ด้านล่างนี้ครับ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq.php และข้อมูล COVID-19 สำหรับประชาชน โดย แพทยสภา : https://tmc.or.th/fact.php”
คำถาม : ยาโลพินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (LPV/r), ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ สามารถซื้อมากินเอง ได้หรือไม่ อย่างไร
“ยาโลพินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (LPV/r), และ Oseltamivir เป็นยาที่จ่ายได้ในโรงพยาบาล และโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อมารับประทานเองได้ ตามร้านยาไม่มีจำหน่าย”
คำถาม : อาจารย์มีความห่วงใย กรณีเกี่ยวกับการซื้อยาโลพินาเวียร์/ลิโทนาเวียร์ (LPV/r), ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ ในตลาดออนไลน์ หรือไม่ อย่างไร
“หากประชาชนไปสั่งซื้อผ่านออนไลน์ อาจเสี่ยงกับการได้รับยาปลอมและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ หรือหากเป็นยาจริง ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น ตับอักเสบ อาการแพ้รุนแรง หรือ เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา รวมถึงอาจเสี่ยงกับเชื้อพัฒนาดื้อยาได้ หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น หรือ กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค โรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐ”
คำถาม : ปัจจุบันมีสถานการณ์เกี่ยวกับความเชื่อในการใช้ยา เช่น การใช้ “ยาฟ้าทะลายโจร” ในการนำมาป้องกัน ดูแลรักษาโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บ้างหรือไม่ อย่างไร และในวงการเภสัชกรรมมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
“ยาฟ้าทะลายโจรยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจากงานวิจัย หรือหน่วยงานของรัฐ ที่จะใช้อธิบายว่าสามารถใช้ในการรักษา หรือป้องกัน การติดเชื้อ COVID-19 ได้ ควรรับประทานเฉพาะที่มีคำแนะนำให้ใช้เวลามีอาการป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา และมีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยดังต่อไปนี้
คําเตือนในฉลาก และเอกสารกํากับยา จากกระทรวงสาธารณสุข
1. ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
2. ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ฟ้าทะลายโจรเช่น มีผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
3. หากใช้ยานี้แล้วมีผื่นปากบวม ตาบวม หน้าบวม ให้หยุดยาทันที และพบแพทย์
4. หากใช้ติดต่อกันเกิน3 วัน แล้วไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงขึ้น ระหว่างการใช้ยาควรหยุดใช้ และพบแพทย์
5. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทําให้แขนขามีอาการอ่อนแรง
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก ข้อมูลข่าวสารกระทรวงสาธารณสุข http://dmsic.moph.go.th/index/detail/7675
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/484/%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3-%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19/
คำถาม : กล่าวฝากเน้นย้ำ กรณีที่จะซื้อยามารับประทานเอง ควรคำนึงถึงสิ่งใดเป็นสำคัญ
“หากเราจะต้องไปซื้อยามารับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งที่จะมีการใช้ยา และการใช้ยาทุกชนิดต้องคำนึงถึงข้อบ่งชี้ ว่าเราป่วยและจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนั้นไหม คำนึงถึงความปลอดภัย หรือผลข้างเคียงที่เราจะได้รับด้วยครับ”
สามารถอ่านและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา COVID-19 : https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq.php,
ข้อมูล COVID 19 สำหรับประชาชน โดยแพทยสภา: https://tmc.or.th/fact.php
การใช้ยาอย่างเหมาะสมสำหรับประชาชน : http://ndi.fda.moph.go.th/drug_use/detail/68
ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : อ.ดร.ภก.โอฬาริก อะสุพล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563)