อาจารย์ มน. มองปัจจัยความสำเร็จของเกาหลี คือการคัดกรอง COVID – 19 ตั้งแต่ไม่มีอาการ 

     วันนี้ทีมงานสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร มน. F.M.107.25 MHz “วิทยุเพื่อการศึกษา สร้างปัญญาสู่มวลชน” มีบทความที่น่าสนใจเป็นตอนที่ 2 เกี่ยวกับการร่วมให้ข้อมูลและเรียนรู้ไปด้วยกันจากสถานการณ์ของ COVID – 19 โดย ดร.ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาติดตามกันเลย!!! 

     คำถาม : ทำอย่างไรเมื่อผู้ติดเชื้อใหม่จากไวรัส COVID-19 สูงขึ้นจนควบคุมไม่อยู่ – บทเรียนจากเกาหลีใต้ที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม 

     “ช่วงนี้ใคร ๆ ก็กำลังตกใจกับสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักคงจะเริ่มจากการที่ดาราท่านหนึ่งซึ่งไปทำหน้าที่ในสนามมวยแห่งหนึ่งออกมายอมรับว่าตนติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดระลอกความตื่นตัวของผู้ที่อยู่ร่วมในสถานที่เดียวกันให้ไปเข้ารับการตรวจเพิ่มขึ้น จึงทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นตามมา (Department of Disease Control, 2020) แล้วก็ยังมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศไทยจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

     ท่ามกลางความสับสนจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในขณะนี้ อาจารย์อยากมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของประเทศหนึ่ง ที่ในช่วงแรกมีข่าวการติดเชื้อ สถานการณ์ของเขาแย่กว่าเรามาก แต่ต่อมาประเทศเดียวกันนี้เองที่กลับประสบความสำเร็จในการกักกันเชื้ออย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องมีการปิดประเทศเลย จนกลายเป็นกรณีศึกษาของอีกหลาย ๆ ประเทศในเวลาต่อมา ประเทศที่อาจารย์กำลังพูดถึงอยู่ก็คือ สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ นี่เองล่ะค่ะ 

     ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับคุณป้าท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็น super spreader ของเกาหลี (ตอนที่ตรวจพบเชื้อ คุณป้าเป็นเพียงผู้ป่วยรายที่ 31 ของประเทศเท่านั้นเองค่ะ) ต่อมาในระยะเวลาเพียง 10 วัน ยอดผู้ป่วยสะสมในประเทศกลับเพิ่มขึ้นมามากถึงกว่า 5,000 คน โดยมีรายงานอย่างเป็นทางการว่าในช่วงที่แย่ที่สุดของเดือนกุมภาพันธ์ เกาหลีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงถึงมากกว่า 900 คนต่อวันเลยทีเดียว (Marco, Simon, & Manas2020) แต่มาวันนี้เกาหลีกลับมีแนวโน้มผู้ที่ติดเชื้อน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกวัน (Worldometers.info, 2020)” 

     ถาม : อะไรทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จในการควบคุม COVID – 19 และประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้อะไรจากเกาหลีได้บ้าง ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงจนเรากลายเป็นเหมือนประเทศอิตาลีที่มีการรายงานข่าวกัน 

     “ความสำเร็จของประเทศเกาหลีเกิดจากปัจจัยหลัก 3 อย่าง คือ 1) การสุ่มตรวจประชาชนจำนวนมากโดยไม่จำกัดว่าจะต้องมีอาการ หรือมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคหรือไม่ 2) การทำระบบติดตามผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งระบบกักกันผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ และ 3) การเตรียมความพร้อมของรัฐและประชาชนกรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงในประเทศ ซึ่งในบทความนี้จะขอเล่าเฉพาะเจาะจงไปที่ปัจจัยที่ 1 คือเรื่องการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 นะคะ 

     ต้องเล่าก่อนว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกาหลีประสบโรคระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า Middle East respiratory syndrome (MERS) หรือที่เราเรียกกันว่าโรคเมอร์สนั่นเอง ครั้งนั้นเกาหลีมีการจัดการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 136 ราย และเสียชีวิต 38 ราย และเป็นผลทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นประเทศเดียวนอกเขตตะวันออกกลางที่มีอัตราการติดเชื้อสูงขนาดนี้ แต่รัฐบาลเกาหลีในตอนนั้นถือว่า นี่เป็นประสบการณ์ที่เจ็บแล้วต้องจำ และจะไม่ยอมให้ประเทศเข้าสู่สถานการณ์แบบนั้นอีก จึงเป็นที่มาให้เกิดการปฏิรูประบบการจัดการโรคติดต่อทางระบบหายใจครั้งใหญ่ มีการทำแนวทางการผลิตอุปกรณ์ตรวจเชื้อโรค เพิ่มจำนวนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล สร้างหอผู้ป่วยสำหรับโรคติดเชื้อ และห้องควบคุมแรงดันลบในอากาศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีการให้ความรู้ประชาชน การจัดโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่าประชาชนมีความรู้และทักษะในการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อแค่ไหน (Korea Centers for Disease Control and Prevention, 2018) เรียกว่ามีความพร้อมตั้งแต่อยู่ในมุ้งเลยล่ะค่ะ 

     ตอนที่ประเทศจีนประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นครั้งแรก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของเกาหลีก็สั่งการทดลองและผลิตชุดทดสอบเชื้อไวรัส COVID – 19 ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เพราะเกาหลีเชื่อว่าการใช้มาตรการกักกันผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้ออย่างจีน ถึงแม้จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ แต่การระบุว่าคนไหนที่มีเชื้อไวรัสอยู่และทำการกักกันคนคนนั้นตั้งแต่แรกน่าจะเป็นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพมากกว่า จึงเป็นที่มาของการสุ่มตรวจเชื้อเป็นวงกว้าง มีการจัดเต็นท์ตรวจโรคให้ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาสามารถแวะเข้าไปตรวจเชื้อได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้าไปในโรงพยาบาล และที่สำคัญประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วย ประหยัดทั้งเวลา ลดการใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ ลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมาเข้ารับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการตรวจ เหล่านี้เองทำให้จนถึงวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เกาหลีสามารถตรวจคัดกรองโรคได้ถึงกว่า 307,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติการตรวจคัดกรองที่สูงที่สุดในโลกในขณะนี้  (Bedingfield2020) 

หน่วยคัดกรองเคลื่อนที่สำหรับไวรัสโคโรนาในเกาหลีใต้ (ภาพโดย Ed Jones สำนักพิมพ์ Wired) 

     โดยทุกคนที่ถูกตรวจจะถูกลงทะเบียนเข้าไปในฐานข้อมูลส่วนกลาง หากคนไหนตรวจพบว่าตนได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ก็จะต้องไปเข้ารับการตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลทันที และหากใครที่มีผลตรวจเป็นบวก (ได้รับเชื้อไวรัส) แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล คนเหล่านี้จะถูกให้กักกันตัวเองที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยส่งอาหารและข้าวของจำเป็นไปให้ถึงหน้าบ้านทุกวัน รวมทั้งเกาหลียังมีแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือชื่อว่า “Corona 100m” (Dudden & Marks, 2020) ที่คอยรายงานให้ประชาชนทราบว่าในระยะ 100 เมตรรอบ ๆ มีผู้ติดเชื้ออยู่ในบริเวณนั้น เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าว และลดการสัมผัสเชื้อไวรัสได้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่เคยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างโรคเมอร์สมาแล้ว ดังนั้นแนวโน้มในการเชื่อฟังคำแนะนำของรัฐบาล และรับเอาวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น การใส่หน้ากาก การล้างมือ การไม่จับต้องสิ่งของที่คนส่วนใหญ่สัมผัสโดยไม่ระวัง การกักกันตนเองโดยการปิดโรงเรียน การทำงานจากบ้าน และการไม่อยู่รวมกันเพื่อสังสรรค์เป็นกลุ่มใหญ่ จึงกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของเกาหลีในยามที่เกิดสถานการณ์ของ COVID – 19  ที่ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจกันปฏิบัติไปแล้ว” 

     ถาม : กระบวนการตรวจที่เกาหลีเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยเราไปถึงจุดนั้น หรือทำได้มากน้อยเพียงใด 

     “อันดับแรก เรื่องวิธีการตรวจ เกาหลีไม่ได้ใช้วิธีการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสที่เรียกว่า reverse transcriptase-polymerase chain reaction หรือ RT-PCR เพียงวิธีเดียว ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อแบบประเทศไทย ซึ่ง RT-PCR เป็นวิธีที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ผลตรวจ ต้องมีห้องแล็บที่มีอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้มีห้องแล็บที่สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้อยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวมทั้งสารที่ใช้ในการตรวจต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่แพงมาก (Department of Medical Sciences, 2020) เมื่อมีคนที่ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมากขึ้น ก็ทำให้เกิดภาวะคอขวด เพราะห้องแล็บเหล่านี้ไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม ต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะรู้ผลการตรวจ 

     นอกจากนี้การตรวจเองก็ใช่ว่าจะให้ผลแน่นอน 100% เพราะหากเก็บสารคัดหลั่งจากตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ไม่สัมพันธ์กับโรค หรือระหว่างขนส่งสารคัดหลั่งเหล่านี้ไปยังห้องแล็บด้วยวิธีที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถทำให้เกิดความผิดพลาดในการอ่านผลได้ มีการศึกษาที่บอกว่าวิธี RT-PCR มีความแม่นยำ (sensitivity) ประมาณ 66%-80% เท่านั้น นั่นหมายความว่าอาจมีคนมากถึง 34% ที่ผลตรวจบอกว่าไม่ติดเชื้อ แต่จริง ๆ อาจได้รับเชื้อไปแล้วก็ได้ (Wang et al., 2020) 

     ในขณะที่เกาหลีพัฒนาการตรวจสารภูมิคุ้มกันโดยใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว (คล้ายการตรวจน้ำตาลในเลือดที่เราเคยเห็นกันนั่นล่ะค่ะ) แล้วหยดลงบนแผ่นตรวจ การตรวจแบบนี้มีหลักการคือเพื่อตรวจหาสารภูมิคุ้มกันในร่างกาย คือเมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้ามาก็จะสร้างสารภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า IgM หากใครได้รับเชื้อเข้ามาในร่างกายในระยะแรกก็จะตรวจเจอ IgM นี้ และถ้าใครที่เคยได้รับเชื้อนี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันหายแล้ว และร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ได้ เราก็จะตรวจเจอสารภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า IgG การตรวจนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว (ประมาณ 30 นาทีก็รู้ผล) ใครก็ทำได้ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจได้ทีละหลาย ๆ คน แถมรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลียังบอกอีกว่าวิธีนี้มีความแม่นยำสูงกว่า 90% เลยทีเดียว (Bedingfield2020) และเพราะชุดตรวจนี้ถูกผลิตขึ้นในประเทศ ทำให้รัฐสามารถทำการตรวจให้แก่ประชาชนได้ฟรี แม้ว่าคน ๆ นั้นจะยังไม่มีอาการเลยก็ตาม (ในขณะที่ประเทศไทย ถ้าใครไม่มีอาการและไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประชาชนต้องเสียเงินหลายพันบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง) 

     แม้การตรวจนี้จะไม่สมบูรณ์ที่สุด และใครที่ตรวจพบว่ามีการสร้างสารภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วจะต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง แต่จุดเด่นของการตรวจเชิงรุกแบบนี้ก็ทำให้คนที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้รับรู้สถานะของตน เมื่อคนเหล่านี้รู้ว่าตนมีเชื้อไวรัสอยู่ก็จะยิ่งให้ความร่วมมือ รวมทั้งปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น เป็นการคืนพลังอำนาจให้แก่คน ๆ นั้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยมาตรการ หรือบทลงโทษจากรัฐมากนัก 

     นอกจากนี้ ด้วยความที่ประเทศไทยเพิ่งจะเคยมีประสบการณ์เจอโรคระบาดใหญ่ระดับนี้เป็นครั้งแรก ก็ต้องยอมรับว่าทั้งภาครัฐ และประชาชนมีความพร้อมในการรับมือที่ช้ากว่าเกาหลีอยู่มาก รวมทั้งประชาชนบางส่วนก็ยังไม่เห็นถึงความร้ายแรงและผลกระทบที่อาจตามมาจากไวรัสนี้มากนัก เราจึงยังไม่มีทั้งระบบการติดตามผู้ติดเชื้อที่เคร่งครัดอย่างเกาหลี รวมทั้งยังไม่สามารถจูงใจให้ประชาชนบางส่วนให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างเต็มที่ 

     สุดท้ายนี้เราคงต้องยอมรับว่าการเผชิญสถานการณ์ COVID – 19 นี้เป็นเรื่องใหม่ของทุกฝ่ายประเทศไทยคงต้องทดลองวิธีการรับมือแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะบ้านเมืองของเรามากที่สุด อย่างไรก็ดีอาจารย์อยากฝากไว้ว่าการแพร่ของเชื้อนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกคนในสังคมของเราในแบบที่แตกต่างกันไป พิษเศรษฐกิจส่งผลต่อผู้ประกอบการร้านค้า และลูกจ้าง เด็ก ๆ ต้องขาดโรงเรียน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหน้าด่านและต้องผจญกับความเครียดจากความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อในทุก ๆ วันอีกด้วย 

     แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นคนที่ตกงานและไม่มีเงินทุนสำรอง หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล คนกลุ่มนี้มักจะไม่มีสวัสดิการใด ๆ รวมทั้งขาดรายได้ในกรณีที่สถานที่ทำงานของตนต้องปิดทำการเป็นเวลานานในภาวะที่โรคระบาดกำลังรุนแรงนี้ด้วย จนกว่ารัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ สิ่งที่เราทุกคนพอจะทำได้ ก็คือการไม่ตื่นตระหนก ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคม และกักกันตัวเองเมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดเกิดขึ้น สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ได้ และที่สำคัญโปรดอย่าลืมว่า COVID – 19 เป็นปัญหาที่เราทุกคนเผชิญอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การให้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้ติดเชื้อและผู้ที่ได้รับผลกระทบข้างต้น ถือเป็น สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทุกคนพอจะทำได้ เพื่อรอเวลาให้วิกฤติการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปด้วยกันนะคะ” 

บทความโดย : ดร.ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

ที่มา: 

Bedingfield, W. (2020). What the world can learn from South Korea’s coronavirus strategy. Wired.  Retrieved from https://www.wired.co.uk/article/south-korea-coronavirus 

Department of Disease Control. (2020). Corona Virus Disease (COVID-19): Situation.   Retrieved from https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/eng/situation.php 

Department of Medical Sciences. (2020). SARS-CoV2  Retrieved from https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/guidelines/G37.pdf 

Dudden, A., & Marks, A. (2020). South Korea took rapid, intrusive measures against Covid19 – and they worked The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/mar/20/south-korea-rapid-intrusive-measures-covid19 

Korea Centers for Disease Control and Prevention. (2018). MERS in the Republic of Korea.   Retrieved from https://www.who.int/westernpacific/emergencies/mers-in-the-republic-of-korea 

Marco, H., Simon, S., & Manas, S. (2020, March 20). The Korean Clusters: How coronavirus cases exploded in South Korean churches and hospitals. Reuters. Retrieved from https://graphics.reuters.com/CHINA-HEALTH-SOUTHKOREA-CLUSTERS/0100B5G33SB/index.html 

Wang, W., Xu, Y., Gao, R., Lu, R., Han, K., Wu, G., & Tan, W. (2020). Detection of SARS-CoV2 in Different Types of Clinical Specimens. Jama. doi:10.1001/jama.2020.3786 

Worldometers.info. (2020, March 24). COVID-19 Coronavirus Pandemic.   Retrieved from https://www.worldometers.info/coronavirus/#countries 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon