ขอให้อดทนและมีความหวัง วันหนึ่งเราจะตื่นจากฝันร้ายนี้ : วิกฤติ COVID – 19 

     อ.ดร.มาณิกา เพชรรัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมให้แนวคิดว่า “ตั้งแต่เริ่มมีข่าวโรคระบาดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID – 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วเกือบ 1 ล้านคน โดยในประเทศไทยมีรายงานตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 1,875 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. พ.ศ. 2563) (Worldometer2020) ดิฉันเชื่อแน่ว่าทุกท่านกำลังเครียดและอึดอัด เพราะวิถีชีวิตถูกกระทบอย่างหนัก รัฐบาลทั่วโลกต่างออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน ปิดธุรกิจและงดการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะชีวิตของดิฉันก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะครั้งสุดท้ายที่โลกเกิดโรคระบาดใหญ่ขนาดนี้คือเมื่อปี ค.ศ. 1918 ซึ่งโลกในตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่จะมองสถานการณ์ครั้งนี้ วันนี้ดิฉันจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีกำลังใจ มีความอดทน มีความหวังที่จะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน รวมถึงให้ทุกท่านได้รับข้อมูลและเห็นภาพของสถานการณ์ตามที่เป็นจริง 

     1. ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรืออาหารใดๆ ที่ช่วยรักษาหรือป้องกันโรคCOVID-19 ได้ 100% : ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านคงจะได้รับข้อมูลทางสื่อโซเชียลมากมายว่า ยาตัวนี้ช่วยรักษาโรคนี้ได้ ประเทศนั้นผลิตวัคซีนได้แล้ว หรือถ้าทานอาหารบางชนิดจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ปัญหาก็คือข้อมูลเหล่านั้นไม่เป็นความจริงหรือจริงแค่บางส่วน นายแพทย์แอนโธนี่ ฟอว์ซี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่มียาหรือวัคซีนตัวไหนที่ใช้ได้ผลสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากเลย การใช้ยารักษามาลาเรีย ยาคุมไวรัสสำหรับผู้ป่วยเอดส์ หรือวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสตัวก่อนๆ ได้ผลแค่สำหรับผู้ป่วยบางคนเท่านั้น พอนำไปใช้กับผู้ป่วยคนอื่นกลับไม่ได้ผลหรือทำให้อาการแย่ลง (The Daily Show with Trevor Noah, 2020) ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำคือรักษาตัวให้อยู่รอด รอจนกว่าจะมียาและวัคซีนที่ได้ผลจริง ๆ ออกมา ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังทำการทดลองและวิจัยกันอยู่ จึงขอให้ทุกท่านมีความหวัง

2. แม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ แล้ว จำนวนตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นไปอีกระยะแล้วจึงจะลดลง : หลายๆ ท่านอาจจะกำลังท้อแท้ว่า ทำไมปรับวิถีชีวิตขนาดนี้แล้ว เวลาผ่านมาเป็นเดือนแล้วแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงไม่ลดลงสักที ถ้าเราดูตัวเลขจากประเทศต่างๆ ที่มีมาตรการกักบริเวณ ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ แล้วคุมโรคได้สำเร็จอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน จะพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังจากที่ปิดเมืองไปแล้ว แล้วจึงจะเริ่มลดลงและสามารถควบคุมโรคได้สำเร็จ ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐวอชิงตันซึ่งพบผู้ติดเชื้อCOVID-19 เป็นรัฐแรก เริ่มประกาศภาวะฉุกเฉิน ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านก่อนรัฐอื่น ๆ ก็พบผู้ป่วยเพิ่มอีกสักพัก แต่ปัจจุบันนี้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ก็มีแนวโน้มที่ลดลง ดิฉันจึงอยากจะขอให้ทุกท่านติดตามข่าวสารเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะข้อมูลดังที่ปรากฏในประเทศต่าง ๆ จะเห็นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นก่อนแล้วจึงลดลง จนกระทั่งสามารถควบคุมได้ในที่สุด

3. มาตรการปิดเมืองจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว : หลาย ๆ ท่านคงกำลังกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นตามมากับการปิดเมือง หรือแม้แต่อาจจะโกรธหรือคิดว่าการทำแบบนี้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ จะคุ้มกับความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือไม่ซึ่งเข้าใจได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทุกคนเห็นอยู่ แต่อย่าลืมว่าปัญหาครั้งนี้ที่จริงแล้วเป็นวิกฤติทางสาธารณสุข ถ้าเรายังหยุดการแพร่ระบาดของโรคไม่ได้ เราจะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ และถ้าเราไม่พยายามช่วยกันควบคุมโรค ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะหนักกว่านี้อีกมาก

     ดิฉันขอยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศนี้พบผู้ป่วยโรค COVID – 19 พร้อมกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตราการป้องกันต่าง ๆ ทันที จนปัจจุบันสามารถควบคุมโรคได้สำเร็จมีผู้ติดเชื้อ 9,976 ราย คิดเป็นสัดส่วน 195 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน (Worldometer2020) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีนโยบายป้องกันอะไรจนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็นเดือน ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 200,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 714 รายต่อประชากร 1 ล้านคน (Worldometer2020) ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้มากกว่าเกาหลีใต้ ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์หรือการลงทุนเราสามารถพูดได้ว่าการปิดเมืองและกักบริเวณเป็นการจำกัดความเสียหาย (Damage control) ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ดิฉันอยากให้ทุกท่านมีความหวัง มองโลกในแง่ดีว่า ตอนนี้ประเทศไทยเริ่มเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคระบาด และเมื่อคุมได้สำเร็จ ก็จะได้หาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจกันใหม่ 

     บทความชิ้นนี้ดิฉันอยากให้ทุกท่านได้รับข้อมูลและเห็นภาพของสถานการณ์ตามที่เป็นจริงว่า ตอนนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่รักษาโรคนี้ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังเพิ่มขึ้น และผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้ทุกท่านมีความหวังเพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพยายามสร้างวัคซีนและยารักษาเจ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้อยู่ หลาย ๆ ประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ และการปิดเมืองครั้งนี้จะช่วยจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาวและนำไปสู่การฟื้นฟูต่อไป ขอให้ทุกท่านอดทนและมีความหวัง เพราะวันหนึ่งทุกคนจะตื่นขึ้นจากฝันร้ายนี้แล้วกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม” อ.ดร.มาณิกา เพชรรัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมให้แนวคิด 

 

อ้างอิง: 

The Daily Show with Trevor Noah. (2020, March 26). Dr. Fauci answers Trevor’s questions about Coronavirus: The daily social distancing show. [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=8A3jiM2FNR8&fbclid=IwAR118_jDhEVb3MQcEOXgHuJ-QrpR_igwGcbK0ep_embPWrlUhj_z5ZuPw8c 

Worldometer. (2020, April 2). COVID-19 Coronavirus Pandemic. Retrieved from https://www.worldometers.info/coronavirus/ 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon