แผนภูมิกราฟที่ช่วยให้เห็นว่าระยะห่างทางสังคม
จะช่วยลดสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ได้อย่างไร
(Social distancing….It’s all about flattening the curve!)
ทีมข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร มน. F.M.107.25 MHz ได้นำบทความที่น่าสนใจนี้ จาก ดร.ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาเรียนรู้ร่วมกัน
คำถาม : ช่วงนี้ได้ยินกันบ่อย เรื่อง “Social distancing” หรือ การสร้างระยะห่างทางสังคม มันคืออะไร แค่ไหนถึงจะพอดี และที่สำคัญทำแล้ว ดีต่อสถานการณ์โรค COVID-19 อย่างไร
“ทบทวนกันสักเล็กน้อย ไปกันที่เรื่องว่ามันคืออะไรก่อน สรุปง่าย ๆ Social distancing คือ การพยายามไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ ๆ คนเยอะ อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือถ้าจำเป็นก็ให้อยู่ห่าง ๆ คนอื่นประมาณ 6 ฟีต หรือ 2 เมตรนั่นเองค่ะ”
คำถาม : มี Social distancing แล้วจะช่วยลดความรุนแรงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสได้ อย่างไร
“สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ เรามีกราฟจากแนวทางการประเมินและควบคุมผู้ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ COVID-19 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกาที่ประกาศมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC, 2020) มาอธิบายประกอบ
โดยกราฟนี้จะช่วยจำลองสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน เปรียบเทียบกันระหว่างกรณีที่เราไม่ทำอะไรเลย (ดังคลื่นกราฟสีแดง) กับการที่เราสร้างระยะห่างทางสังคมหรือมีมาตรการที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ (ดังคลื่นกราฟสีเทา) รวมทั้งผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลผู้ป่วย (ดังเส้นประสีเทา) เดี๋ยวเรามาลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันนะคะ
คือเจ้าไวรัสนี้ ถ้าเรายังปฏิบัติตัวตามปกติ ไปกินข้าว ดูหนัง ช้อปปิ้ง ชมคอนเสิร์ตอยู่เหมือนเดิมล่ะก็ เราจะมีอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างรวดเร็ว ตามที่เห็นในคลื่นกราฟสีแดง
ข้อดีคือไวรัสนี้จะหมดไปจากสังคมไวขึ้นเพราะมีคนจำนวนมากที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ และจะเป็นเกราะธรรมชาติที่ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่น ๆ ในสังคมได้มากขึ้นด้วย ฟังดูดีใช่ไหมคะ…แต่เราลองมาที่ข้อเสียกันบ้างนะคะ
เวลาที่มีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าบ้านเรามีกำลังทรัพย์ และมีแนวนโยบายอย่างจีนที่สามารถสั่งการสร้างโรงพยาบาลและสถานกักกันโรคขนาด 1,000 เตียงได้ในระยะเวลาสิบกว่าวัน มันจะไม่น่ากลัวเลยค่ะ
แต่ในภาวะที่เราขาดแคลนทรัพยากร ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ และยารักษาเชื้อไวรัส การที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อจำนวนมากให้อยู่รอดปลอดภัยได้เนี่ยมันไม่ง่ายเลยนะคะ
สมมติถ้าโรงพยาบาลเรามีเครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 40 เครื่อง แต่มีผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ 100 คน เราจะตัดสินใจให้ใครใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างไรดีคะ
กรณีนี้เกิดขึ้นที่อิตาลีแล้วนะคะ เนื่องจากที่อิตาลีมีจำนวนคนป่วยด้วยโรคนี้มากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่และเครื่องมือทางการแพทย์จะรองรับได้ (เหมือนสถานการณ์คลื่นกราฟสีแดงที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าเส้นกราฟสีเทาที่บอกถึงขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยค่ะ) แพทย์อิตาลีจึงต้องใช้วิธีประเมินโรคตามแนวโน้มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย และนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ของอิตาลีสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี่ล่ะค่ะ (ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกที่ทำให้กรณีศึกษาของประเทศอิตาลีมีความน่าสนใจ ไว้ถ้าอาจารย์มีโอกาส จะมาให้อ่านในครั้งต่อไปนะคะ)
ในขณะที่ถ้าเรานำแนวคิด Social distancing มาปฏิบัติ เราจะได้สถานการณ์ตามคลื่นกราฟสีเทาค่ะ คือเราจะค่อย ๆ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทีละน้อยทุกวัน ระยะเวลาการระบาดของไวรัสจะนานขึ้น แต่ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถซื้อเวลาให้บุคลากรทางการแพทย์ของเราสามารถค่อย ๆ ดูแลคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ รวมทั้งเราจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอสำหรับทุกคนด้วย (เพราะไม่มีใครมาแย่งกันใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในเวลาพร้อมๆกันยังไงล่ะคะ) เวลานี้ เราคงต้องเลือกแล้วค่ะว่าเราจะเลือกแบบไหน”
คำถาม : Social distancing แค่ไหนถึงจะพอดี ?
“Dr. Kate Vergara ท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดวิทยาที่ไปทำงานควบคุมโรคโปลิโอในเอธิโอเปีย และอีโบลาในประเทศเซียร่า ลีโอน ช่วงที่มีการระบาดหนัก ๆ มาแล้ว แถมท่านยังกลับมาอยู่นิวยอร์กหลังควบคุมสถานการณ์โรคได้แบบครบ 32 ไม่ติดอะไรกลับมาเลยสักโรคเดียว ได้ให้คำแนะนำไว้แบบนี้ค่ะ (Goldman, 2020)
1.เราต้องเข้าใจวิธีการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ก่อน มันไม่ได้แพร่กระจายแบบ airborne แต่มันแพร่แบบ droplets หมายความว่า มันแพร่จากการไอหรือจามของคนที่ติดเชื้อ เราอาจสูดดม หรือไปจับบริเวณที่มีน้ำลายของผู้ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ เสร็จแล้วก็เอามือมาจับหน้า ตา ปาก จมูกของเราต่อ เราจึงได้รับเชื้อตามไปด้วย เพราะฉะนั้นการล้างมือ และใส่ใจบริเวณที่เราสัมผัสจึงเป็นการป้องกันการได้รับเชื้ออย่างดีมาก ๆ เลยค่ะ
2.เราไม่ต้องขังตัวเราอยู่ในบ้านตลอดเวลา แต่เราเลือกออกจากบ้านในเวลาที่คนน้อย เช่น แทนที่จะไปช็อปปิ้งช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ หรือหลังเลิกงาน เราก็ไปวันจันทร์เช้าที่คนน้อย ๆ แทน และวางแผนไปซื้อของสัปดาห์ละครั้งแทนที่จะออกไปซื้อทุกวัน แทนที่จะไปออกกำลังที่ยิม เราก็ไปวิ่งที่สวนสาธารณะที่มีลมถ่ายเทเป็นสถานที่เปิดแทน หรือออกกำลังกายตามช่อง YouTube อยู่ที่บ้าน หลีกเลี่ยงการชุมนุมในที่ปิดที่มีคนมากกว่า 10 คน หรือในที่เปิดที่มีคนมากกว่า 50 คน สรุปในภาพรวมคือ กำหนดเวลาและวางแผนการออกนอกบ้านอย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ
และ 3.คิดเสียว่าตอนนี้คือเวลาที่เราต้องแสดงจิตสำนึกส่วนรวม คนหนุ่มสาวต้องคิดว่าถึงตัวเองจะร่างกายแข็งแรง มีอัตราการได้รับอันตรายจากการติดเชื้อต่ำ แต่เราก็สามารถเป็นพาหะของโรคที่ทำให้คนที่ภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ (และหญิงตั้งครรภ์อย่างอาจารย์) ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถมีส่วนร่วมที่จะลดความรุนแรงของสถานการณ์ไวรัสนี้ได้ ทุกอย่างคือทางเลือก ถ้าเราเลือกจะเปลี่ยนแปลงและช่วยกันอย่างมีสติ เราต้องผ่านโรคนี้ไปได้ด้วยกันแน่นอนค่ะ”
ที่มา:
Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (2020, March 7). Interim US Guidance for Risk Assessment and Public Health Management of Persons with Potential Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Exposures: Geographic Risk and Contacts of Laboratory-confirmed Cases. Retrieved from https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/php/risk-assessment.html.
Goldman, L. (2020, March 16). What are the rules of social distancing? VOX. Retrieved from https://www.vox.com/2020/3/15/21179296/coronavirus-covid-19-social-distancing-bored-pandemic-quarantine-ethics.