รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการติดตามการการดำเนินงานและมอบนโยบายสถาบันอุดมศึกษา เน้นให้“มหาวิทยาลัย”เร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน พร้อมด้วยผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายรัฐบาลด้านการอุดมศึกษา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เมื่อเร็วๆนี้ 

การประชุมได้เริ่มต้นจากการมอบนโยบายจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาทางด้านการศึกษาถือเป็นเรื่องวิกฤติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น โดยเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพของคนไทยมีความเข้มแข็ง เนื่องจากนักเรียนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ทราบศักยภาพของตนเอง ครู อาจารย์จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ออกแบบการเรียนรู้ ให้เกิดการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงศักยภาพของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบและถนัด ทำให้เด็กรู้ทิศทางในการพัฒนาตนเอง เลือกเรียนต่อในสิ่งที่ตรงกับศักยภาพจริง ๆ ไม่ใช่เลือกเรียนตามค่านิยม และตกงานภายหลังจบการศึกษา 

แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 21 จะปรับตัวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์ การปรับนโยบายและเส้นทางการผลิตไปสู่ภาคส่วนที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร และการขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนั้น ในเชิงการศึกษามหาวิทยาลัยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ เพราะการมี knowledge base หรือ innovation driven จะทำให้อยู่ได้ในโลกนี้ 

ทั้งนี้เป็นเพราะในอนาคตจะเกิดการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้เกิดการ disruption กันอย่างรวดเร็ว โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่เด็กจะลดลงอย่างมหาศาล ล่าสุดลดลงเหลือ 6.7 แสนคนต่อปี เข้ามหาวิทยาลัยแค่ 3 แสนคน ฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เด็กมัธยมศึกษาอีกแล้ว ขณะที่ความต้องการตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากแรงงานคนกลายเป็นเทคโนโลยี 

“หากท่านยังสอนกันอยู่เหมือนเดิม หลักสูตรไม่เคยเปลี่ยนเลย แล้วท่านจะสร้างคนตอบโจทย์อนาคตได้  นี่คือประเด็นสำคัญที่อยากให้สถาบันการศึกษากลับไปทบทวนและเตรียมการ เพราะผมเชื่อว่าอีก 4-5 ปี มหาวิทยาลัยอาจจะปิดจำนวนหนึ่ง เพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน” 

 

“ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ทยอยปิดไปกว่า 500 มหาวิทยาลัย เพราะเด็กลดลง เด็กไม่เข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่การเรียน online education เพิ่มขึ้นสูงมาก ประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ฉะนั้นเด็กมัธยมสมัยนี้จะเก่งกว่าเด็กมัธยมสมัยยุคผม ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยเขาเรียนจากออนไลน์  แล้วท่านจะมาสอนเขาแบบเดิม เขารับไม่ได้หรอกครับ ปัจจุบันหลายหลักสูตรในอเมริกาเป็นหลักสูตรปริญญาสองปี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ก็ทำ เพราะโลกมันเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตามโลกให้ทัน” นายแพทย์อุดมกล่าว 

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเป็น demand side เน้นการพัฒนาอาชีพ ยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เติมเต็มความรู้และทักษะที่จำเป็นหรือสิ่งที่ขาด  สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากนอกโรงเรียน นอกห้องเรียน นอกระบบ กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ได้ ขณะเดียวกันต้องเน้นให้เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะการ reskill, upskill, multi-skill แรงงานปัจจุบัน รวมถึงเน้นหลักสูตรที่ไม่มีประกาศนียบัตรหรือปริญญา 

หลังจากได้รับมอบนโยบายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานรายงานผลการดำเนินงาน ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะตัวแทนเครือข่ายอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่างรายงานผลการดำเนินงาน 2 ประเด็น ได้แก่ เรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบ  work integrated learning (WIL) จากการดำเนินงานพบว่า  นักศึกษามีงานทำเพิ่มขึ้น มีนวัตกรรมที่ได้จากการปฏิบัติ ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร สถานประกอบการเข้าร่วมสหกิจศึกษามากขึ้น ได้หลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต     

สำหรับประเด็น โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่  ทางเครือข่ายอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่างไม่มีหลักสูตรใดได้รับคัดเลือกให้ได้รับงบประมาณสนับสนุน หากในโอกาสครั้งต่อไปทางเครือข่ายฯจะปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้ได้เป็นไปในทิศทางการขับเคลื่อนของกระทรวงต่อไป  

 

 

 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon