ดนตรีบำบัด เพื่อผู้สูงอายุ

ดนตรี เป็นหนึ่งสิ่งง่ายๆที่จะช่วยคลายความเครียดและสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆให้แก่ตัวเองได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยให้สุขภาพจิตถูกชักจูงไปในทางที่ดีเท่านั้น แต่สุขภาพกายก็พลอยแข็งแรงตามไปด้วยอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาดนตรี จึงได้จัดโครงการดนตรีบำบัด ซึ่งในปีนี้เน้นการจัดกิจกรรมในโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ได้แก่ ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ป่วยติดเตียง กิจกรรมดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ  โยคะสำหรับผู้สูงอายุ และกิจกรรมดนตรีเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้สูงอายุในชุมชนตำบลท่าโพธิ์  

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แก้วกร เมืองแก้ว หัวหน้าภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมาทำกิจกรรมดนตรีบำบัดผู้สูงอายุนี้ เราก็ได้จัดเวิร์คชอปก่อนว่ากิจกรรมของผู้สูงอายุควรมีอะไรบ้าง จะฟื้นฟูด้านไหน ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ตอนแรกก็แอบกังวลว่าคุณลุงคุณป้าจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน เพราะเรายังไม่เคยเจอกัน แต่พอวันทำกิจกรรมจริง เราได้จัดให้การแสดงดนตรี และ  กิจกรรม“รำวงย้อนยุค” โดยวงดนตรี “บานเย็น คอมโบ้” เป็นการรวมตัวกันของอาจารย์และนิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ของเรา  ผลปรากฎว่า คุณลุงคุณป้ามีความสุขมาก ซึ่งทางอบต.ก็ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรม อยากให้จัดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเกิดหยุดการจัดกิจกรรมจะส่งให้อย่างแรก คือใจฝ่อและเหงา แต่ถ้าเกิดมีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ ก็จะทำให้ท่านไม่เหงา แล้วก็พัฒนาในหลายๆด้านส่งผลให้กำลังใจที่กำลังจะถดถอยกลับขึ้นมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ด้านทักษะการเรียนรู้ ความจำ สมาธิ การสื่อสาร การเคลื่อนไหว และทักษะการเข้าสังคม ลดความกลัวการเข้าสังคมรวมถึงความเข้มแข็งของครอบครัว นำไปสู่การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลเอาใจใส่กลุ่มที่เราเรียกว่า “ผู้สูงอายุ”  

นางกัลยา นุชท่าโพธ์ ตัวแทนของศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต อบต.ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางคณะมนุษยศาสตร์ ที่มาให้ความบันเทิงเกี่ยวกับดนตรี เราได้มีความสนุกสนานได้ร่วมกิจกรรม โดยคณะผู้สูงอายุได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนานทุกคนมีความสุข ร่าเริง แจ่มใส ผ่อนคลายความเครียด นอกเหนือจากนั้นยังได้รับความรู้จากคณะสหเวชศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปนดา เตชทรัพย์อมร ได้มาให้ความรู้ เรื่องเข่าเสื่อม เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องไขมัน เรื่องระมัดระวังในการทรงตัว การเดิน ตลอดจนการรักษาสุขภาพ ว่าผู้สูงอายุควรจะมีการรักษาสุขภาพอย่างไร สำหรับคณะพยาบาลศาสตร์ ได้มาให้ความรู้เรื่อง “กรดไหลย้อน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัทรียา รัตนวิมล ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกปฏิบัติต่อไป 

News : 0481 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon