มรดกทางวัฒนธรรมในหลากหลายด้าน ถ้าเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะร่วมสืบทอด ศิลปะด้านนั้น ๆ ก็อาจจะสูญหายไป มาถึง ณ วันนี้ หลายท่านมองว่า “เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยที่จะให้ความสนใจเพลงพื้นบ้าน” บางท่านก็มองว่า “ศิลปะพื้นบ้านไม่มีคนสนใจ คนดูน้อย ถูกมองผ่านกันไปหมด ” แต่นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปัจจุบันมีทายาททางศิลปะ เพลงพื้นบ้าน และการแสดงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย นายศราวุธ สุดงูเหลือม หรือเหลือมศรีคุณพระช่วย นิสิตปริญญาโทสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คือหนึ่งในเยาวชนที่สนใจและมีใจรักในเพลงพื้นบ้าน
ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นายศราวุธ สุดงูเหลือม หรือเหลือมศรี ศรีปลาช่อน ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ แข่งขันเพลงแหล่ ช่วงคุณพระประชัน ในรายการคุณพระช่วย
นิยามหรือคำจำกัดความของเพลงพื้นบ้าน
“ เพลงพื้นบ้าน เป็นเพลงที่ละเล่นแล้วก็ขับร้องกันในกลุ่มชาวบ้าน มีการใช้ภาษาที่ง่ายๆตรงไปตรงมา มีสัมผัสของกลอน โดยจะแบ่งตามภูมิภาค มีภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เพลงพื้นบ้านภาคกลางก็จะมีเพลงฉ่อย ลำตัด เพลงอีแซว เพลงเรือ และอีกหลากหลายชนิดมากมาย สำหรับผมจะถนัดทางภาคกลาง อย่างเช่นพวกเพลงแหล่ เพลงลำตัด เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ”
เสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านคือความสนุกสนาน และการชิงไหวชิงพริบ ถ้าคนเล่นมีความสนุก ความสุขก็ส่งถึงคนดู
“ สำหรับเสน่ห์ผมมองว่าจะเป็นในเรื่องของความสนุกสนาน เนื้อหาที่เป็นการชิงไหวชิงพริบกัน ฝ่ายหนึ่งว่ามา ฝ่ายหนึ่งก็จะต้องแก้กลับ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้พวกเพลงฉ่อยต่างๆเหล่านี้มีความสนุกสนาน ก็คือจะไม่ใช่ร้องเพียงแค่คนเดียว จะต้องมีการรวมกลุ่มกันมากกว่าหนึ่งคน และคนเล่นก็ต้องมีปฏิภาณไหวพริบด้วย เราถึงจะมีความสนุกแล้วคนดูก็จะชอบดู เพลงพื้นบ้านที่เป็นแนวถนัด ก็จะเป็นเพลงแหล่ที่ไปได้รับรางวัลมาจากรายการคุณพระช่วย เป็นการนำคำที่เราเลือกจับฉลากได้มาแต่งเข้าบทกลอน แล้วขับร้องออกมาเป็นเพลงแหล่ ส่วนใหญ่เพลงพื้นบ้านจะเป็นกลอนที่มีลักษณะลงสัมผัสท้ายของบทเหมือนกัน ส่วนเพลงแหล่ก็จะเป็นกลอนสุภาพ มีสัมผัสเหมือนกลอนและจะมีสัมผัสระหว่างบทเหมือนเราแต่งกลอน ทุกกลอนก็จะสามารถขับร้องเป็นเพลงแหล่ได้หมดเลย ”
ช่วงชีวิตวัยเด็กที่ต้องอยู่กับคุณยาย และการไปชมการแสดงลิเก ทำให้ซึมซับและหลงใหลในเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านมาจนถึงทุกวันนี้
“ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณคุณยาย สมัยก่อนอยู่กับแม่แก่ที่บ้าน บ้านจะเป็นชนบท แม่แก่ก็จะชอบพาไปดูลิเกตามงานวัดต่างๆ ก็ชอบตั้งแต่นั้นมา ชอบตัวโจ๊กลิเกที่เค้าเล่นตลกกันบนเวที แล้วหลังๆก็เริ่มได้รับความนิยมมากในกลุ่มของน้าโย่ง น้าพวง น้านงค์นำมาร้อง เราก็เลยมองทั้งสามน้าเป็นไอดอล และพยายามฝึกจากเทปต่างๆที่น้าโย่งท่านได้อัดไว้ก็ฝึกร้องตาม จนในที่สุดจากการฝึกฝน การท่องเนื้อ ก็ทำให้เราสามารถด้นแล้วก็ประพันธ์แบบฉับพลันขึ้นมาจากไหวพริบของเราได้ ก็เลยเป็นทิศทางที่ทำให้เราได้แสดงความสามารถในระดับจังหวัด ต่อมาทางรายการก็ทาบทามเข้ามาให้เราไปถ่ายรายการในลักษณะของการแข่งขันการประชัน พอเราได้มีโอกาสไปอยู่ ณ เวทีตรงนั้นจริงๆความรู้สึกในการบันทึกรายการเทปแรกตื่นเต้นมาก ด้นไม่ออก คิดคำไม่ได้ เทปแรกแพ้กลับมา ก็กลับมาทบทวนว่าทำไมเราถึงแพ้ ทั้งๆที่เราเล่นในเวทีเล็กๆเราเล่นได้ดีเลย แต่ทำไมเราไปออกรายการกลับคิดคำไม่ได้ จนพอมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งหนึ่งเราก็ได้ทำอย่างเต็มที่ ผลปรากฎว่าได้เป็นแชมป์คุณพระประชัน จนกระทั่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราก็ยังครองแชมป์อยู่ ซึ่งการที่เราสามารถครองแชมป์ได้ก็ต้องรักษามาตรฐานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เราร้องยังไงเราก็ต้องห้ามมาตรฐานตก ฝึกร้องบ่อยๆ มีโอกาสได้ขึ้นเวทีก็ต้องทำให้เต็มที่ จากที่เราได้ไปอยู่ในเวทีนั้น ได้มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ ผลตอบรับที่ได้กลับมาคือเห็นได้ชัดว่า คนในระดับจังหวัดรู้จักเรามากขึ้น และตามสำคัญๆในระดับจังหวัดก็มุ่งให้ความสำคัญมาที่เพลงพื้นบ้านมากขึ้น”
ถึงแม้วัฒนธรรมจากภายนอกจะเข้ามา อย่าลืมว่าวัฒนธรรมไทยก็มีดี อยากให้ผู้ใหญ่เปิดเวทีให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักในเพลงพื้นบ้าน
“ก่อนอื่นเลยก็ต้องทำให้ของเราดีก่อน หมายถึงว่า เราอาจจะมีการรับวัฒนธรรมมาจากต่างที่มา เราก็ยอมรับได้แต่อย่าลืมว่าวัฒนธรรมของเราก็มีดี เพียงแต่ว่ายังขาดเวทีในการแสดงออก ดังนั้นผู้ใหญ่เองเมื่อเห็นความสำคัญอย่างนี้แล้วในจังหวัดต่างๆควรที่จะมีการเปิดเวทีให้เด็กที่มีใจรักในเพลงพื้นบ้าน ได้มีโอกาสได้ขึ้นเวทีขับร้อง เมื่อมีโอกาส มีความสามารถแล้วก็ควรที่จะมีการแข่งขัน มีการมอบรางวัลให้กับผู้ที่มาอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน สนับสนุนให้เด็กที่จะร้องเพลงพื้นบ้านนำเอาเรื่องราวสำคัญๆในยุคนี้อย่างเช่น เพลงคุกกี้เสี่ยงทายเองมาแต่งในบทฉ่อย จะได้เกิดความสนุกสนานและทันสมัย เด็กก็จะมองว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว ยังคงสามารถหยิบมาร้องได้ มีสัมผัสด้วยเท่ากับเพลงแร็พที่เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ชอบกัน”
ขอบคุณเพลงพื้นบ้านที่ทำให้เหลือมศรีได้มีโอกาสในวันนี้ ทั้งการศึกษา และส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม
“สุดท้ายก็ต้องขอขอบคุณเพลงพื้นบ้าน ที่เป็นเหมือนตัวจุดประกายจุดไฟขึ้นมา จากความรักความชอบก็ทำให้เลือกเรียนในสาขาภาษาไทย เมื่อได้มาเรียนเราก็เริ่มเห็นช่องทางแล้วว่า การศึกษาศึกษาตัวบทที่เป็นเพลงพื้นบ้านในมุมของการใช้ภาษา ยังต้องการคนทำในลักษณะนี้อยู่ ตัวผมก็เลยเลือกศึกษาต่อและได้นำเอาความสามารถในการร้องเพลง พร้อมทั้งความสามารถในการวิเคราะห์ใช้ถ้อยคำการใช้ภาษาไทยในบทเพลงพื้นบ้าน นำมาต่อยอดจนทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อในระดับที่สูงขึ้น และได้นำเอากระบวนการต่างๆไปนำเสนอในเวทีวิชาการต่างๆได้ ต้องขอขอบคุณเพลงพื้นบ้านที่ทำให้ตัวของผมได้มีโอกาสในวันนี้มากยิ่งขึ้น”
ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก : รายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน ช่วงสนทนาสถาบัน
ขอบคุณภาพจาก : เวิร์คพอยท์
—————————————-
News : 0268