สุดยอดนักอ่าน ประจำปี 2560 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

(ประเภทบุคลากรสายสนับสนุน สำนักงานอธิการบดี)
นายเอกภาคย์ วรรณกูล   “ถ้าคุณอ่านแต่หนังสือเล่มที่คนอื่นอ่าน คุณก็จะคิดเหมือนคนอื่น” 

      สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ด้วยการจัดกิจกรรมสุดยอดนักอ่านเป็นประจำทุกปี และในปี 2560 สุดยอดนักอ่าน 4 ท่าน จาก 4 ประเภท ที่มีสถิติการยืมหนังสือสูงสุด ได้แก่

1.ผศ.ดร.ชุลีกร ด่านยุทธศิลป์ ประเภทบุคลากรสายวิชาการ คณะพยาบาลศาสตร์

2.นายเอกภาคย์ วรรณกูล ประเภทบุคลากรสายสนับสนุน สำนักงานอธิการบดี

3.นางสาวสุจิราภรณ์ ม่วงเงิน ประเภท นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย

4.นายชินภัทร หนูสงค์ ประเภท นิสิตระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์

      ติดตามสัมภาษณ์พิเศษ สุดยอดนักอ่านประจำปี 2560 นายเอกภาคย์ วรรณกูล  ประเภทบุคลากรสายสนับสนุน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

เข้าห้องสมุดบ่อยแค่ไหน จุดเริ่มต้นที่ทำให้รักการอ่าน มีอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจ

      ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์อยู่ตึก CITCOMS มหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยเรื่องงานแล้วทำให้ต้องเข้าสำนักหอสมุดทุกสัปดาห์ครับ คือต้องเอาอุปกรณ์สำรองข้อมูลมาเก็บ และไหน ๆ ก็มาแล้วเลยหาหนังสือติดมือกลับไปอ่าน  ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำให้รักการอ่าน อาจเป็นเพราะตอนเด็กเห็นพ่อชอบอ่านนิยายจีน แม่ชอบอ่านสกุลไทยก็เป็นได้ครับ

การอ่านหนังสือของคุณเอกภาคย์  ชอบอ่านแนวไหน ทำไมถึงชอบ

      ก็หลายแนวครับ นอกจากเรื่องงานด้าน IT และข่าวสารทั่วไปแล้ว ก็เป็นพวกนิตยสารรายสัปดาห์รายเดือนต่าง ๆ ครับ มังงะญี่ปุ่นก็อ่านเพราะชอบที่ผู้แต่งจินตนาการได้หลุดกรอบมาก นิยายจีนก็ชอบเพราะเนื้อหาสนุกสนาน มักสอดแทรกปรัชญาความคิดแบบจีน บุคลิกของตัวละครก็แตกต่างจากนวนิยายแนวอื่น พระพุทธศาสนาก็อ่านบ้างครับเพราะเคยสงสัยว่าอะไรก็ไม่แน่นอน ความดีคืออะไร ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ พระนิพพานเข้าถึงได้อย่างไร ปรัชญาก็สนใจครับ เคยอ่าน Sophie’s  World นอกจากจะสนุกแล้วยังเป็นไกด์ให้ศึกษาปรัชญาในหัวข้อต่าง ๆ ที่ลึกซึ้งต่อไปครับ ส่วนตอนนี้สนใจการเมืองและประวัติศาสตร์ครับโดยเฉพาะประวัติศาสตร์สากล เพราะถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์เราก็จะเชื่อมโยงตัวเราเองกับโลกไม่ได้

ส่วนเคล็ดลับในการอ่านหนังสืออย่างไร ให้สนุกไม่รู้เบื่อ  ไม่มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษครับ ถ้าอ่านทุกวันก็จะเป็นนิสัยไปเอง

มีอะไรอยากจะฝากบอกน้องๆ ถึงเรื่องของการอ่านบ้าง

      ปัจจุบันเทคโนโลยีเอื้อให้เราอ่านหรือติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ได้แบบ on demand อาจทำให้เรารู้ลึกเฉพาะบางเรื่องที่เราสนใจแต่ไม่รู้กว้างในเรื่องอื่น ๆ จะต่างจากเมื่อก่อนที่เราอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่ทั้งเล่มจะมีเนื้อหาหลากหลายทำให้เรารู้กว้างโดยปริยาย ดังนั้น อยากให้น้อง ๆ อ่านให้หลากหลายไว้ครับ อย่างที่มูราคามิบอกว่า “ถ้าคุณอ่านแต่หนังสือเล่มที่คนอื่นอ่าน คุณก็จะคิดเหมือนคนอื่น”

—————————————-

ขอขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติม : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon