จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ยังคงมีการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีส่งผลทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วประชาชนบางส่วนอาจจะมีข้อสงสัยอีกว่า เมื่อเป็นโรคอุจจาระร่วงแล้วควรจะหายามารับประทานหรือไม่ ในครั้งนี้ทีมงานได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุยกับเภสัชกรกฤษฏิ์ วัฒนธรรม เภสัชกรประจำสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ความกระจ่างในการดูแลตนเองและใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ถูกต้อง และปลอดภัย
“อาการท้องเสีย ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย 90 เปอร์เซ็นต์ หายเองได้
แต่อาการท้องเสียชนิดที่มีถ่ายเหลวพร้อมกับมีมูกเลือด ร่วมกับการมีไข้สูง
มีความจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ และได้รับการดูแลรักษาที่ต้องมีความต่อเนื่อง
โดยการไปพบแพทย์หรือเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย”
: เภสัชกรกฤษฏิ์ วัฒนธรรม เภสัชกรประจำสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร :
อาการอุจจาระร่วง ท้องเดิน ท้องเสีย เป็นอาการที่อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกันหรือไม่
“อุจจาระร่วง ท้องเดิน ท้องเสีย เป็นคำเดียวกัน โดยจะมีความหมายเหมือนกันก็คือว่า มีอาการของการถ่ายอุจจาระเหลว ไม่เป็นก้อน มากกว่า 3 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง โดยอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น”
เมื่อมีอาการอุจจาระร่วง ควรใช้ยาหรือไม่
“การที่จะใช้ยาหรือไม่นั้น จะต้องดูด้วยว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร เพราะว่า อาการท้องเสียจะแบ่งเป็น 3 อาการหลักๆ เช่น ท้องเสียร่วมกับอาการอาเจียนเด่น แบบนี้จะเป็นเรื่องของอาหารเป็นพิษซึ่งจะหายได้เองภายใน 2 วันและอาการจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้สัมผัสกับอาหารที่ปนเปื้อนกับพิษนั้นๆ
อีกส่วนหนึ่งถ่ายเหลวเป็นน้ำ เป็นหลัก อาเจียนน้อยหน่อย อาจจะมีอาการไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาการเหล่านี้มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียบางกลุ่ม
อีกส่วนหนึ่งถ่ายเหลว และมีมูกเลือดปนออกมาด้วย จะเกิดจากที่แบคทีเรียบางตัว เข้าทำลายเซลล์ลำไส้ และมีอาการไข้ร่วมด้วย ดังนั้น ในการรักษาถ้าเป็นในเรื่องของตัวไวรัสหรือเป็นตัวแบคทีเรียที่ไม่ได้ทำลายเชื้อลำไส้จะสามารถหายเป็นปกติได้เอง อาจจะไม่ต้องใช้ยาใดๆ หรือใช้สารน้ำทดแทนการเสียน้ำก็เพียงพอ แต่สำหรับอาการท้องเสียชนิดที่มีถ่ายเหลวเป็นมูกเลือดร่วมกับการมีไข้สูง อาจจะมีความจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ และได้รับการดูแลรักษาที่ต้องมีความต่อเนื่อง โดยการไปพบแพทย์หรือเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย ซึ่งอาการท้องเสียในเด็กการไปโรงพยาบาลจะมีประโยชน์มากกว่า หรือประชาชนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประชาชนที่มีการถ่ายเหลวเยอะมาก เกินวันละ 8 ครั้ง ควรที่จะต้องประเมินสภาวะการขาดน้ำและรีบไปพบแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง”
โรคอุจจาระร่วง ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาใช่หรือไม่
“ก่อนอื่นต้องขอแจ้งไว้ก่อนเลยว่า อาการอุจจาระร่วงหรือท้องเสียมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถหายได้เองได้เพียงไม่กี่วันหรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้การรักษาส่วนใหญ่จะไม่ต้องทำการรักษาแบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งถ้ามองในการรักษาจะมุ่งไปที่การรักษาโดยการไม่ให้มีการขาดน้ำไม่ให้อาการรุนแรง โดยที่ยาที่จะมาฆ่าเชื้อไวรัสนั้นไม่มีก็เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีความรุนแรงขนาดนั้นหากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันคนที่ควรได้รับก็จะเป็นในกลุ่มของเด็กเล็ก เพราะตัวไวรัสที่กำลังออกข่าวกันอยู่ขณะนี้คือโรต้าไวรัส จะเจอในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเป็นหลัก ในผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยเจอแล้วอาจจะเจอไวรัสอีกตัวหนึ่งแต่ความรุนแรงน้อยกว่า”
ประชาชนมาปรึกษาเรื่องโรคอุจจาระร่วงมากน้อยเพียงใด
“จากประสบการณ์ ก็จะมีผู้มาที่ร้านยาอยู่แล้ว แต่ในกรณีผู้ที่มาร้านยาได้แบบนี้อาการก็จะไม่รุนแรงอยู่แล้ว ก็จะเน้นในการให้ความรู้และในเรื่องของการใช้ยาจะเป็นการประเมินเป็นรายบุคคล”
เกลือแร่ ORS กับเกลือแร่ของนักกีฬา สามารถนำมาทดแทนกันได้หรือไม่ อย่างไร
“ถ้าในเรื่องของการทดแทนสารน้ำ ตัว ORS ย่อมาจาก Oral Rehydration Salts นั่นก็คือเกลือแร่ทดแทนสารน้ำ ซึ่งตรงนี้จะมีการถูกปรับความเข้มข้นมาให้ความพอดีกับอาหารท้องเสีย แต่ถ้าหากไปใช้ในเรื่องของเกลือแร่สำหรับนักกีฬาพวกนี้จะมีเรื่องของน้ำตาลที่เยอะมีความเข้มข้นสูงมันก็จะทำให้ในเรื่องของการถ่ายจะมีมากขึ้นจากเดิมได้ ดังนั้น ORS กับ เกลือแร่สำหรับนักกีฬาไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้
จริงๆ ในเรื่องของอาการท้องเสียไม่แนะนำให้เรียกหายา หรือซื้อยามารับประทานเอง หรือการซื้อยาติดบ้านไว้ ซึ่งอาการท้องเสียนั้นมีอยู่หลายแบบ ซึ่งการดูแลรักษาในแต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในแต่ละคนก็จะมีการใช้ยาแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร รวมถึงการป้องกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ในเมื่ออาการท้องเสียสามารถหายได้เอง การรักษาไม่จำเพาะเจาะจง ดังนั้น เราต้องป้องกันไม่ให้มันเกิดด้วยการใช้หลักของการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง
และหมั่นล้างมือ
นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ยังมีข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานผู้ป่วยโรค Diarrhoea หรือโรคอุจจาระร่วง จำนวนทั้งสิ้น 49,829 ราย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยพบเพศหญิง 28,185 ราย เพศชาย 21,644 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือเด็กในปกครอง ร้อยละ 36.84 รองลงมาคือ อาชีพเกษตรร้อยละ 21.19 อาชีพนักเรียน 17.67
สำหรับข้อมูลการพบผู้ป่วยสูงสุด จะพบในเดือน มีนาคม จำนวนผู้ป่วย 5,427 ราย ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือจังหวัดตาก รองลงมาคือ จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดสุโขทัย ตามลำดับ
————————————————–
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ :
เภสัชกรกฤษฏิ์ วัฒนธรรม เภสัชกรประจำสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร