ม.นเรศวร พัฒนาระบบและรูปแบบการบริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุ (Creative Health Care Delivery for Aging)

มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับสถานประกอบการด้านสุขภาพเอกชน  พัฒนาระบบและรูปแบบการบริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุ (Creative Health Care Delivery for Aging)

     เมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมท็อปแลนด์ พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับสถานประกอบการด้านสุขภาพเอกชน  ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ ความต้องการของครอบครัวในระบบการดูแลแบบ Creative Health Care Delivery for Aging โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชมนาด วรรณพรศิริ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และ นายแพทย์อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิษณุเวช เป็นวิทยากร ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบการบริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุ (Concept design workshop : Creative Health Care Delivery for Aging)

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ มีความเกี่ยวข้องกับ Creative Community Support เพื่อศึกษาความต้องการของครอบครัวในระบบการดูแลแบบ Creative Health Care Delivery for Aging, Fun & Inspiration Activity โดยการพัฒนาหลักสูตรผู้ดูแลที่แบ่งเป็น Module ที่เหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุตามสภาพของความต้องการการดูแลและตามสภาพปัญหาของผู้สูงอายุ  รวมถึง Innovation with navigation and guru consulting โดยการพัฒนาระบบการจัดการในลักษณะของการใช้ระบบสารสนเทศที่ครอบครัวสามารถเลือกผู้ดูแล และจำนวนชั่วโมงการบริการได้ ซึ่งมี ดร.สมศักดิ์ โทจำปา รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ดังกล่าว

จากข้อมูลสำนักงานประสานงานการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาวะรองรับสูงวัย คาดการณ์ว่าปี 2564 ร้อยละของผู้สูงอายุจะขยับเป็นร้อยละ 20 ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้จากสถิติของผู้สูงอายุของกรมการปกครอง ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 พบว่า ประชากรทั้งประเทศ มีจำนวน 65,931,550 คน เป็นผู้สูงอายุ 9,934,309 คน คิดเป็นร้อยละ 15.07 โดยจังหวัดพิษณุโลกมีผู้สูงอายุ 140,148 คน คิดเป็นร้อยละ 16.19  ซึ่งสถิติของจังหวัดดังกล่าวสูงกว่าสถิติของประเทศ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของพื้นที่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก พบว่า มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าระดับประเทศ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 20.06 (13,824 คน) และมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 100 ปีถึง 12 คน

มหาวิทยาลัยนเรศวรเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงมีการร่วมลงนามความร่วมมือยุทธศาสตร์ 10 ปี คนพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกรองรับสังคมสูงวัย ภายใต้โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาเมืองในอนาคต ร่วมกับภาคีเครือข่าย 6 องค์กร ประกอบด้วย 1) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  2) เทศบาลนครพิษณุโลก 3) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลก 4) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก 5) หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก และ6) สำนักงานประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกันในการนำยุทธศาสตร์ 10 ปี คนพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกรองรับสังคมสูงวัย เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกที่เชื่อมโยงสอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามจากรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทยปี พ.ศ. 2559 พบว่า ผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือ จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ร้อยละ 95 เช่น โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41 โรคเบาหวาน ร้อยละ 10 โรคของข้อต่างๆ ร้อยละ 9 และต้องนอนติดเตียง ร้อยละ 1 และเมื่อสอบถามปัญหาเชิงลึกจากครอบครัวผู้สูงอายุ พบว่า มีปัญหาในการดูแลจากสภาพของความเป็นเขตเมืองของเทศบาลนครพิษณุโลก มีปัญหาของครอบครัวผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลจากผู้ดูแลที่มีคุณภาพ ทั้งในรูปแบบการดูแลในลักษณะที่ไม่จำกัดชั่วโมง เพื่อทดแทนครอบครัวเป็นบางเวลาหรือเต็มเวลาตามความประสงค์ของผู้ดูแล ความปลอดภัยในการรับผู้ดูแลมาดูแลที่บ้าน เป็นต้น

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความสามารถในการเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลในเขตพื้นที่มากกว่า 9 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีจำนวนผู้สูงอายุ และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการเพื่อการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบครบวงจรมากกว่า 553,816 คน เห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบการดูแล เพื่อการดูแลตามความประสงค์ของครอบครัว ร่วมกับโรงพยาบาลพิษณุเวช ซึ่งเป็นสถานประกอบการด้านสุขภาพเอกชน  จึงร่วมมือกันต้องการพัฒนา Creative Health Care Delivery for Aging ทั้งนี้มีแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบต่างๆ เช่น การนำผู้ที่มีความประสงค์หารายได้เสริมในการดูแลผู้สูงอายุบางเวลามาพัฒนาความรู้ความสามารถโดยมีระบบการตรวจสอบประวัติ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุในการเรียนกใช้บริการ การพัฒนาระบบการจัดการที่ผู้สูงอายุและครอบครัว สามารถเรียกใช้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง เช่น ต้องการบริการที่ไม่ซับซ้อนจากผู้ดูแล จำนวน 2 ชั่วโมง เพื่อทดแทนครอบครัวในการไปทำธุระส่วนตัว เป็นต้น โดยเป็นระบบที่สามารถเข้าถึงได้งาย และการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการ โดยมีระบบประกันความปลอดภัยจากผู้ดูแลที่ผ่านการตรวจสอบประวัติ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่องสู่การดูแลผู้สูงอายุและตอบสนองครอบครัวผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon