คุณพรธิดา บุญยะโรจน์ : เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร /ศิษย์เก่าผู้กู้ยืมกองทุนฯ
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดโครงการส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่ศิษย์เก่าผู้กู้ยืมที่มีคุณสมบัติความประพฤติดีมีความเสียสละ ทำประโยชน์ให้แก่สังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อชุมชนหรือสาธารณชน รวมถึงมีประวัติการชำระเงินคืนกองทุนตามกำหนดเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนได้มอบใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลทุนการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน นักศึกษากองทุน จำนวน 12 ท่าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อประเทศชาติและทำความดีตอบแทนสังคม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องและสังคม
คุณพรธิดา บุญยะโรจน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร อีกหนึ่งศิษย์เก่าผู้กู้ยืมที่เป็นแบบอย่างที่ดี และได้รับรางวัลแห่งความภูมิใจในครั้งนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลังได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณ กยศ.ที่ให้โอกาสในการเรียน และ มองเห็นสิ่งที่ตนเองทำว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง กยศ.ได้ ชีวิตก่อนหน้าที่จะได้รับทุนการศึกษา กยศ. ภูมิลำเนาเดิม อยู่ที่ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ที่บ้านมีฐานะยากจน ผู้คนในหมู่บ้านทำเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ พ่อ แม่ มีความรู้ ป.4 มีลูก 4 คน ตนเองเป็นคนที่ 2 ส่วนคนโตได้เรียนแค่ ป. 6 ผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ เพราะขาดเงินทุนและไม่เห็นโอกาสที่จะได้รับจากการศึกษามากนัก
“ ที่ครอบครัวของดิฉันก็เกือบจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ดิฉันเรียนโรงเรียนประถมศึกษาในหมู่บ้าน เมื่อจบชั้น ป.6 ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนโกรกพระ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ จนถึง ม.6 และได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยนเรศวรได้ ”
จุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อได้รับทุน กยศ. คืออนาคตที่ดี และได้คว้าปริญญาตรี – โท เป็นคนแรกของหมู่บ้าน
“ กล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี กยศ. เราคงไม่มีโอกาสได้มายืนอยู่ตรงนี้ ได้มาทำงานที่รัก งานที่มีความสุข และมีโอกาสทำสิ่งดี ๆ เพื่อแบ่งปันความสุขและโอกาสให้กับผู้อื่น กยศ.ให้โอกาส ให้ได้รับความรู้ ประสบการณ์ และนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาตนเอง มาใช้ในการทำงาน สร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเอง สร้างรายได้ที่จะนำไปจุนเจือครอบครัว ให้แม่พ่อได้มีความสุขและฐานะครอบครัวที่ดีขึ้น ได้จบปริญญาตรี – โท เป็นคนแรกของหมู่บ้าน และ ได้ส่งให้น้องอีก 2 คนได้เรียนจนจบปริญญาตรี
ย้อนไปเมื่อปี 2539 เป็นปีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งเป็นปีที่ดิฉันสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงได้ขอกู้ยืมเงินดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 4 ได้รับเงินค่าเทอม และค่าใช้จ่ายประจำเดือน ทำให้ดิฉันไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน และมีสมาธิมุ่งมั่นกับการเรียน ”
ปัจจุบัน ได้ก้าวเข้ามาทำงานที่กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร เชิญชวนให้นิสิตในมหาวิทยาลัยร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา เรียนรู้และพัฒนาตนเอง
“ ในช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำกิจกรรม ชมรมอาสาพัฒนา กิจกรรมจิตอาสา ตั้งแต่ชั้นปี 1 – 4 ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำกิจกรรม การทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบ การแบ่งปัน ซึ่งประสบการณ์และสิ่งเหล่านั้น ได้พัฒนาตนเองหลายๆด้าน เมื่อมาปฏิบัติหน้าที่ที่กองกิจการนิสิต ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่พัฒนานิสิตโดยตรงจึงมองเห็นโอกาสที่จะได้พัฒนานิสิตด้วยกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ ประกอบกับ กยศ. มีโนบายในเรื่องการให้นิสิตผู้กู้ยืม ทำกิจกรรมจิตอาสา 36 ชม./ปี ดิฉันจึงเชิญชวนให้นิสิตในมหาวิทยาลัยมาร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา โดยดิฉันเป็นที่ปรึกษาให้กับนิสิตกลุ่มต่าง ๆ เช่น จิตอาสาแยกขยะ จิตอาสาเก็บขยะ จิตอาสาสมุดทำมือ จิตอาสา ม.นเรศวร ปลอดบุหรี่ จิตอาสาเต้านมเทียม จิตอาสารักษ์หมวกกันน็อค จิตอาสาผลิตสื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น เพื่อให้นิสิตเหล่านั้นได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป “
สิ่งที่อยากบอกกับรุ่นน้องที่กู้ยืมเงิน กยศ. เมื่อคุณได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว จงส่งต่อให้กับรุ่นน้องที่รอคอยโอกาสนั้นอยู่
“ สิ่งที่ กยศ.ทำ คือ พยายามที่จะมอบโอกาสให้กับเยาวชน เยาวชนที่ยากจน ขาดเงินทุนในการศึกษาเล่าเรียน และต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าคุณคือคนกลุ่มนั้น จงไขว้คว้าโอกาสนั้นไว้ เพราะการศึกษาคือสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น และเมื่อคุณใช้โอกาสนั้นแล้ว จงส่งต่อให้กับน้องๆรุ่นต่อๆไปที่รอคอยโอกาสนั้นอยู่ ”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุนจำนวนกว่า 5 ล้านราย มีผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 4 ล้านราย คิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการกระจายโอกาสทางการศึกษาสร้างทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ จำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยนักเรียน นักศึกษาจะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น โดยเพิ่มลักษณะการให้กู้ยืมเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ผู้ที่เรียนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศ ผู้ที่เรียนในสาขาวิชาขาดแคลนหรือรัฐมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษและผู้ที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยกองทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติในแต่ละลักษณะ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมวินัยและความรับผิดชอบในการชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้องต่อไป ”
————————————————–
News : 0160