ภายในช่องปากมีเชื้อจุลินทรีย์มากกว่า 500 ชนิด เชื้อบางกลุ่มสามารถรวมตัวกันเป็นคราบจุลินทรีย์เกาะที่ขอบเหงือกและแทรกลงในร่องเหงือก กระตุ้นให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบซึ่งเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ส่งผลต่อการอักเสบของเหงือกและอวัยวะปริทันต์รอบตัวฟัน มักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่ส่งผลให้เกิดเลือดออกจากเหงือกได้ง่าย มีกลิ่นปาก ฟันโยกจากการที่กระดูกหุ้มรากฟันละลายทำให้เคี้ยวอาหารไม่สะดวก เหงือกบวมมีหนองออกจากร่องเหงือก และทำให้สูญเสียฟันในท้ายที่สุด
โรคปริทันต์อักเสบไม่เพียงแต่ทำให้เกิดปัญหาทีเหงือกและฟันเท่านั้น ยังพบว่าโรคปริทันต์ มีความเกี่ยวข้องกับสภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตกระทันหันถึงร้อยละ 29 ในประชากรทั่วโลก โรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องมีหลายประเภท ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย โรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น โรคเหล่านี้มีสาเหตุหลักจากการที่หลอดเลือดแดงแข็งจากการสะสมของไขมันและแผ่นพลาคที่ผนังหลอดเลือด บางกรณีมีแร่ธาตุสะสมที่แผ่นพลาคเหล่านี้ เกิดเป็นหินปูนเกาะที่ผนังหลอดเลือด
โรคปริทันต์อักเสบรุนแรงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ มีรายงานการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 91 ของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคปริทันต์อักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง เมื่อศึกษาแผ่นพลาคที่ผนังหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดพบว่า มีเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อ ก่อโรคปริทันต์บางสปีชีส์อยู่ในแผ่นพลาคเหล่านั้น ทั้งนี้การมีเชื้อก่อโรคปริทันต์ในช่องปากเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดการสะสมของแผ่นพลาคในหลอดเลือดได้ ผ่านกลไกสองด้านคือ การที่เชื้อก่อโรคปริทันต์รุกรานเข้าไปที่ผนังหลอดเลือดก่อให้เกิดแผ่นพลาคที่หลอดเลือดโดยตรง และการที่เชื้อเหล่านี้กระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารสื่ออักเสบซึ่งมีผลให้เกิดการสร้างแผ่นพลาคที่หลอดเลือด
การรักษาโรคปริทันต์จึงส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อสังเกตพบว่าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ควรเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ โดยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน เพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคปริทันต์ ทั้งนี้การขูดหินน้ำลายเพียงครั้งเดียวไม่สามารถรักษาโรคปริทันต์อักเสบได้ เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคยังมีการสะสมตกค้างในคราบจุลินทรีย์ หินน้ำลาย ในร่องเหงือก และมีส่วนหนึ่งฝังตัวในผิวรากฟันและในเนื้อเยื่อเหงือก จำเป็นต้องได้รับการเกลารากฟัน ร่วมด้วย นอกจากนี้การดูแลสุขภาพช่องปากหลังรักษาโดยการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟันจะช่วยให้โรคปริทันต์อักเสบถูกควบคุมให้ไม่กลับมาเป็นใหม่ ช่วยให้สุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายดีขึ้นได้
บรรณานุกรม
Jemin Kim and Salomon Amar. Periodontal disease and systemic conditions: a bidirectional relationship. Odontology 2006 Sep : 94(1) : 10-21
ข้อมูลโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพญ.ดร.สดใส วิโรจนศักดิ์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/index.php/2012-09-18-18-57-27/2-2012-09-27-23-42-04/99-2017-07-25-09-41-05