อาจารย์คณะวิทย์แพทย์ ม.นเรศวร เปิดโลกทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสิงคโปร์

        อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดบรรยายพิเศษเพื่อเปิดโลกทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่อาจารย์และนิสิตภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัย Duke-National University of Singapore หรือ Duke-NUS ประเทศสิงคโปร์

        นายสัตวแพทย์ ดร.เกริกเกียรติ  จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการพัฒนางานวิจัยภาควิชาสรีรวิทยาดังกล่าวว่า ภาควิชาสรีรวิทยามีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอาจารย์ บุคลากร และนิสิตในหลักสูตรโดยการบูรณาการด้านการวิจัย การเรียนการสอน และการบริการวิชาการ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านวิชาการจากศิษย์เก่า การจัดงานประชุมทางวิชาการ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

        “เราได้รับเกียรติจากนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากมหาวิทยาลัย Duke-National University of Singapore หรือ Duke-NUS ประเทศสิงคโปร์ มาบรรยายพิเศษเพื่อเปิดโลกทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่อาจารย์ และนิสิตภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและ Duke-NUS

        สำหรับกิจกรรมการบรรยายดังกล่าว Professor Dr. Derek Hausenloy จาก Duke-NUS ได้มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง “From mitochondrial morphology to remote ischemic conditioning – new targets and strategies for cardioprotection” และ Dr. Hector Cabrera-Fuentes มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Extracellular nucleic acids as potential targets in inflammatory cardiac disease”
ซึ่งการบรรยายจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรทั่วโลก และเป็นอันดับ 2 ของประชากรในประเทศไทย

        Professor Dr. Derek Hausenloy เป็นนักวิจัยด้านการปกป้องหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลก โดยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ เช่น Nature Reviews of Cardiology, The New England Journal of Medicine และ European Heart Journal เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่ไปฝึกอบรมระยะสั้นที่ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้นโยบายส่งเสริมให้บุคลลากรผลิตผลงานทางวิชาการของ ศ.ดร. สุจินต์ จินายน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร Professor Dr. Hausenloy ได้ให้ความอนุเคราะห์โดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการหาวิธีในการปกป้องหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

        ส่วน Dr. Hector Cabrera-Fuentes นั้นเป็นเพื่อนร่วมวิจัยซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฝึกอบรมระยะสั้นได้ติดต่อ Professor Dr. Hausenloy ให้เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงในการขอทุนวิจัยในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยในระดับชาติตามนโยบายของภาควิชาสรีรวิทยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งในส่วนที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน และ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา เงารังษี ได้เคยให้ไว้” นายสัตวแพทย์ ดร.เกริกเกียรติ กล่าว

        นอกจากนี้  นายสัตวแพทย์ ดร.เกริกเกียรติ  ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า  จากการบรรยายวิทยากรได้กล่าวถึงบทบาทของไมโตคอนเดรียของหัวใจในฐานะการเป็นแหล่งสร้างพลังงานที่สำคัญของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และบทบาทในการเป็นแหล่งสร้างสารอนุมูลอิสระ และกระบวนการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

        “งานวิจัยล่าสุดทางการแพทย์หลายๆ ชิ้น มีจุดประสงค์หลักในการลดความเสียหายของไมโตคอนเดรียของหัวใจ ซึ่งจะช่วยลดขนาดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ โดยขนาดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจที่ลดลงนั้น จะช่วยลดหรือชะลอการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ของผู้ป่วยได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะมีลักษณะที่เหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำงานหนักได้ นอกจากนี้รัฐยังต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นยา ค่ารักษาพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์” นายสัตวแพทย์ ดร.เกริกเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : นายสัตวแพทย์ ดร.เกริกเกียรติ  จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

————————————————–

News: 0063

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon