ม.นเรศวร และแพทย์ ศจย. เตือน บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด

    รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผย ผลการวิจัย เรื่อง “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่างการวิจัย คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า นักเรียน 9.6% มีประสบการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และที่สำคัญนักเรียนที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า 17.6% มีความตั้งใจที่จะทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคต

“เด็กนักเรียนขาดความรู้และมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้าใน 10 เรื่อง ดังนี้

1) 49.2% เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ยอมรับในกลุ่มวัยรุ่น

2) 40.5% ไม่รู้ว่าการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย

3) 39.3% ไม่รู้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะผิดกฎหมาย

4) 39.3% ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย

5) 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

6) 36.6% ไม่เชื่อว่าการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีอันตรายต่อสุขภาพ

7) 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI)

8) 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้

9) 21.8% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่แบบมวนได้

10) 20.5% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบมวน” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

 

    ด้าน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว น่าเป็นห่วงที่เด็กนักเรียนไทยได้รับมายาคติความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่พยายามทำการตลาดบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ทั้ง ๆ ที่มีนิโคตินเท่ากันหรือมากกว่าบุหรี่มวน จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อทุกระบบของร่างกายโดยเฉพาะต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชน

 

    ดังนั้น จึงเสนอให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรสาธารณสุข ครู ผู้ปกครอง เร่งพัฒนามาตรการเสริมสร้างความรู้และความเชื่อที่ถูกต้องให้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงควรมีจรรยาบรรณเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สาธารณะทราบ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิป้องกันให้เด็กนักเรียน รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีความรู้ด้านกฎหมาย ที่บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ทั้งห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครอง และห้ามสูบในที่สาธารณะ

ข้อมูลอ้างอิง

    • ผลการวิจัย เรื่อง การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียนระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดย รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
    • ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon