การลาออกจากราชการ เมื่อยื่นใบลาออกล่วงหน้า น้อยกว่า 30 วัน จะมีผลอย่างไร? ยื่นใบลาออกแล้วยังไม่มีการอนุมัติผลจะเป็นอย่างไร ?  

การลาออกจากราชการ เมื่อยื่นใบลาออกล่วงหน้า น้อยกว่า 30 วัน จะมีผลอย่างไร?  ยื่นใบลาออกแล้วยังไม่มีการอนุมัติผลจะเป็นอย่างไร ?  

เมื่อลาออกแล้วจะสอบสวนทางวินัยได้หรือไม่ ? 

เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาตามระเบียบของทางราชการ
 

       โดยปัจจุบัน การลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วย การลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2549 โดยสอดคล้องกับระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการ ลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2551 การปฏิบัติตามระเบียบการลาออก
โดยขอยกตัวอย่างดังนี้ 

Q: นาย ก. ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ระบุวันขอลาออก ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565
เป็นการยื่นใบลาออกล่างหน้าน้อยกว่า 30 วัน จะมีผลอย่างไร 

A: กรณียื่นหนังสือลาออกล่วงหน้า น้อยกว่า 30 หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็น และ อนุมัติ ตามคำขอ การลาออกจะมีผลตามวันที่ร้องขอคือวันที่ 15 ธันวาคม 2565 (ข้อ 4 วรรคสองแห่งข้อบังคับฯ) 

 

Q: กรณียื่นหนังสือลาออกล่วงหน้า น้อยกว่า 30 วัน หรือไม่ระบุวันที่ขอลาออก หากผู้บังคับบัญชา
ไม่อนุมัติ หรือไม่มีการสั่งการใด ๆ การลาออกจะมีผลอย่างไร 

A: หนังสือขอลาออกจากราชการที่ยื่นล่วงหน้าก่อนวันขอลาออกน้อยกว่าสามสิบวัน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกตามวันที่ขอลาออก หรือ กรณีหนังสือขอลาออกมิได้ระบุวันขอลาออก การลาออกจะมีผลตามกฎหมาย คือ วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ยื่น ดังนั้นตามข้อบังคับ ข้อ 4 วรรคสาม ให้ถือว่าวันถัด
จากวันครบกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ยืนเป็นวันขอลาออก คือวันที่การลาออกมีผล คือ วันที่ 1 มกราคม 2566 (ข้อ 4 วรรคสาม แห่งข้อบังคับ) 

 

Q: กรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า การลาออกนั้นยังไม่สมควร จะสามารถชะลอการลาออกหรือยับยั้ง
การลาออกได้เพียงใด  

A: ตามข้อ 6 แห่งข้อบังคับ เมื่อผู้มีอำนาจอนุญาตการลาออก ได้รับหนังสือขอลาออกจากราชการของข้าราชการสามัญผู้ใดแล้ว หากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ผู้มีอำนาจอนุญาตอาจสั่งยับยั้งการลาออก ได้ไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ขอลาออก หรือวันที่ถือเป็นวันที่ขอลาออก โดยในการยับยั้งต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้ขอลาออกทราบ และการยับยั้งได้เพียงครั้งเดียว จะขยายเวลาไม่ได้ 

Q: เหตุในการยับยั้ง คือ เหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ คือเหตุใด หมายความรวมถึง เพื่อการสอบสวน การลงโทษทางวินัย หรือการชดใช้ทุนการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือไม่  

A: เหตุในการยับยั้ง คือ เหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ หรือเหตุที่อาจเกิด ความเสียหายเกิดขึ้นแก่ราชการ หากมีการอนุญาตให้ผู้นั้นออกจากราชการได้ตั้งแต่วันที่รอออก เช่น ผู้ขอลาออกมีภารกิจที่ต้องดำเนินการให้เสร็จก่อน หรือการให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน อาจต้องใช้เวลามากขึ้นเป็นต้น ซึ่งจะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งมอบงานในหน้าที่ราชการ พ.ศ. 2524 วางไว้เป็นแนวการปฏิบัติ โดยเหตุในการยับยั้งมิใช่เหตุ เพื่อการสอบสวน การลงโทษ หรือการชดใช้ทุนการศึกษาหรือฝึกอบรม 

 

Q: เมื่อลาออกแล้วจะสอบสวนทางวินัยได้หรือไม่นั้น และต้องดำเนินการภายในเวลาเท่าใด  

A: พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562  

       “มาตรา 53 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย  มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า ขณะรับราชการใด้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด
อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน ตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือเป็นการกล่าวหาผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้อง คดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนออกจากราชการ ว่าในขณะรับราชการได้กระทำความผิดอาญา อันมิใช่ เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับรายการหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษ ตามที่กำหนดในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา 17 ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ  

       กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกล่าวหา หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังจากที่ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดออกจากราชการแล้ว ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย มีอำนาจดำเนินการ สืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับที่ ออกตามมาตรา 17 ต่อไป ได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ โดยต้องเริ่มดำเนินการสอบสวน ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และต้องโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ สำหรับกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ  

       ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยหรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำาเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด มีมติให้เพิกถอนคำสั่ง ลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้ผู้มีอำนาจ เนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ แล้วแต่กรณี 

       การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ถ้าผลการสอบสวนพิจารณา  ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงที่ให้งดโทษ 

       “มาตรา 53/1 ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีมติชี้มูลความผิดข้าราชการพลเรือน
ในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดที่ออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต แล้วแต่กรณี  การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้งดโทษ”

       โดยในข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการพิจารณาสอบสวนทางวินัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนแล้ว โดยทั้งข้าราชการ หรือพนักงาน หากมีกรณีการกล่าวหาผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจ ดำเนินการสืบสวน หรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา 17 ต่อไปให้เสมือน ว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากรายการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในตัวเว้นแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ 

 

นางสาวลัดดาวัลย์ ชูสาย 

ผู้อำนวยการกองกฎหมาย มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon