มหาวิทยาลัยนเรศวรส่งมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรรางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ 

       วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตร จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชน จำนวนกว่า 35 องค์กร ณ ห้องเทาแสด ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร  

       รองศาสตราจารย์ ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า ด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ประจำปี 2565 เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยแก่เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการพัฒนาประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อสนับสนุนงานนิติบัญญัติ โดย หน่วยวิจัยพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรและภาคีเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองยม-น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ได้รับรางวัลนวัตกรรม “ดีมาก” ประเภทชุมชน องค์กร จากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 จากผลงาน : การบริหารจัดการน้ำชุมชน ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 

       จากความพยายามในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองสุโขทัย ด้วยการตัดยอดน้ำในแม่น้ำยม ที่มีปริมาณ 1,400 ลบ.ม./วินาที ออกทางฝั่งซ้าย-ขวา ให้ไหลผ่านเมืองสุโขทัยเพียง 550 ลบ.ม./วินาที โดยแม่น้ำยมฝั่งซ้าย ด้านคลองหกบาท ให้สามารถระบายน้ำได้ 250 ลบ.ม./วินาที เข้าแม่น้ำยมสายเก่า ผ่านไปทางคลองยม-น่าน ลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 47 โดยการเวนคืนที่ดินประชาชนให้คลองมีความกว้าง 35 เมตร ตลอดคลองความยาว 36 กิโลเมตร มีที่ดินผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,028 แปลง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นคลองระบายน้ำลงแม่น้ำน่านเท่านั้น แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยได้ อีกทั้งปริมาณน้ำที่ระบายลงคลองยม-น่าน มีปริมาณมากจนทำให้พื้นที่ 3 อำเภอ 5 ตำบล 22 หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและอุตรดิตถ์ ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเช่นกัน 

       เนื่องจากโครงการปี 2547 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยได้ ในปี 2560 กรมชลประทานได้ออกแบบปรับปรุงคลองยม-น่านอีกครั้ง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจาก 250 ลบ.ม./วินาที เป็น 500 ลบ.ม./วินาที โดยคลองมีความกว้างสูงสุดถึง 65 เมตร จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมจากปี 2547 อีก มีแปลงที่ดินผู้ได้รับกระทบจำนวน 964 แปลง ที่พักอาศัยจำนวน 201 หลังคาเรือน ทำให้ประชาชนริมคลองต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมาก มีบางจุดแนวคลองเข้าไปในพื้นที่ของวัด นิคมสหกรณ์ และฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษ บางรายต้องสูญเสียที่ดินและที่พักอาศัยทั้งหมด 

       เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินโครงการปี 2547 และ ปี 2560 โดยการรวมตัวกันคัดค้าน ต่อต้าน ไม่ยอมรับโครงการ โดยอ้างโครงการกระทบอิสรภาพและความเสมอภาค(equality)ของประชาขน ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่โครงการ และแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ประชาชนบางรายประกาศยอมตายในพื้นที่เพราะไม่สามารถย้ายไปที่อื่นได้ และผู้รับผลกระทบมีความเห็นว่า ตนเองเคยเสียสละแล้ว ทำไมต้องเสียสละอีก ทำไมต้องเสียสละซ้ำซาก  จึงเกิดการคัดค้าน ต่อต้าน และไม่ยอมรับโครงการ 

       ความขัดแย้งดังกล่าวได้ขยายวงกว้างโดยยังไม่เห็นทางออกจากความขัดแย้ง ผู้ได้รับผลกระทบแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ประชาชนได้ถวายฎีกา และร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ช่วยแสวงหาทางออก 

       มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการร้องขอจากชุมชนให้เข้ามาหาทางช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน อีกทั้ง กรมชลประทานได้ประสานให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาดำเนินการจัดการมีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ตลอดแนวคลองแล้ว ได้ระดมอาจารย์สหสาขาวิชาจากหลากสถาบันการศึกษามาร่วมกันดำเนินการ เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดแนวทางการแสวงหาทางออก ด้วยหลักการ ใช้คนกลาง ไม่มีธง ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด แสวงหาทางออก ยอมรับ ปรับใช้ อันเป็นที่มาของการใช้กระบวนการ “บริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมของประชาชน (Community Based Water Management, CBM)” เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้านมวลชนที่เกิดขึ้น  

       กระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ Participation : Community Based Water Management (CBM) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน โดยมีเครื่องมือที่ใช้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1) หลักการประชาเข้าใจ (Public Understanding) 2) หลักการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) 3) หลักการแบ่งปันแห่งความสุข (Share for Change) 4) ระบบ GIS Real Time 5) กิจกรรมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และ 6) และบูรณาการกลวิธีการดำเนินงาน ซึ่งมีขั้นตอน 5 ขั้นตอน ได้แก่ 

       ขั้นที่ 1 ต้องเริ่มต้นจากชุมชน เคารพเสียงของประชาชน รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างตั้งใจ ฟังทุกเสียง ฟังทุกปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำท่วม และภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งความเดือดร้อนที่ได้รับจากการพัฒนาโครงการฯ โดยเคารพในการมีอิสรภาพ และความเสมอภาค ยอมรับในความแตกต่างของทุกคน ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง และให้ความช่วยเหลือ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแผนการแก้ไข และพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 

       ขั้นที่ 2 รวบรวมความต้องการ และการแก้ไขจากประชาชน นำความคิดเห็นของประชาชนที่ได้จากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ทั้งความต้องการและไม่ต้องการของประชาชน และแผนการพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อกำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในขั้นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาจากหลากสถาบันการศึกษา และตัวแทนประชาชน ร่วมกันกำหนดทางเลือกในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ตามหลัก “ให้ ห้าม หวง” แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้ จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ “คน ดิน น้ำ ป่า”ที่ดี ซึ่งหมายถึง คน จะต้องมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น ดิน จะต้องมีการใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพ น้ำ จะต้องการบริหารจัดการที่ดี และมีคุณภาพที่ดี ป่า จะต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 

       ขั้นที่ 3 เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนบน 3 เสาหลัก นำทางเลือกการแก้ปัญหา มาให้ผู้ได้รับผลกระทบให้ความคิดเห็นโดยให้ความสำคัญต่อสิทธิ เสรีภาพ และกฎกติกาที่เป็นธรรม และร่วมกันพิจารณาทางเลือกต่างๆ บนพื้นฐานที่ต้องดำรงไว้ 3 เสาหลัก ได้แก่ “เกิดสังคมและสุขภาพที่ดี มีเศรษฐกิจที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี” โดยมีผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาจากหลากสถาบันการศึกษา และเทคโนโลยี ร่วมกันปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อใช้เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน 

       ขั้นที่ 4 กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นำเสนอแนวทางที่ได้จากขั้นตอนที่ 3 ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกพื้นที่ ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกันพิจารณาปรับแต่ง ตามหลัก ดีบ้านฉันแล้ว ต้องดีบ้านเพื่อนด้วย โดยใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ต่อสังคมโดยส่วนรวม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และสามารถขจัด/ลดผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ โดยแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยไม่ทอดทิ้งผู้เสียสละ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ 

       ขั้นที่ 5 เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาองค์รวมที่ยั่งยืน นำผลผลิตจากขั้นตอนที่ 4 มาเชื่อมโยงกันในเชิงพื้นที่ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง และหากยังมีประเด็นที่ยังทำให้เกิดผลเสียกับพื้นที่ข้างเคียง จะต้องร่วมกันแสวงหาทางออกที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งคลองยม-น่าน โดยการพัฒนาโครงการฯ จะไม่ส่งผลกระทบระหว่างกัน และจะไม่มีใครได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว โดยมีการเชื่อมโยงกับการจัดการของหน่วยงานภาครัฐอย่างโปร่งใส (Transparency)  ซึ่งตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง (Responsiveness)  

       จากการนำกระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมของประชาชน Participation : Community Based Water Management (CBM)  มาใช้ในการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองยม-น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ สามารถแก้ไขปัญหามวลชนในพื้นที่โครงการได้ ด้วยการที่กรมชลประทานได้ปรับปรุงแบบก่อสร้างใหม่ อันเป็นการลดการสูญเสียที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวคลองยม-น่าน ในขณะที่ได้สร้างอรรถประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนให้สามารถใช้น้ำจากคลองยม-น่านได้ และลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่งทำให้คู่ขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน ที่มีสาเหตุมาจากการกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลาง สามารถกำหนดทางออกจากปัญหา ด้วยการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างแท้จริง ภายใต้ข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ส่งผลให้ขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่กำหนดได้ในที่สุด 

       ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ คือ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา ตามกระบวนการ บริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม Participation : Community Based Water Management (CBM) ที่มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ความต้องการ และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่งผลให้กรมชลประทานสามารถขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไปได้ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนในพื้นที่โครงการ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ 1. เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่เป็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการของภาครัฐอย่างเสมอภาค 2. การดำเนินการตามหลักธรรมภิบาล ตามกฎหมายที่มีความยุติธรรมและเป็นธรรม 3. ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม ถึงแม้จะต้องดำเนินการตามเสียงสวนใหญ่ก็ตาม แต่จำเป็นต้องสนใจและเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบส่วนน้อย จะต้องดูแล แบ่งปันความทุกข์ ความสุข ของแต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จาก กรณีดังกล่าว กระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมของประชาชน Participation : Community Based Water Management (CBM) เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นพลเมืองที่เป็นไปตามหลักพื้นฐานของการสร้างพลเมืองตามวิถีระบอบประชาธิปไตยทุกประการ    

       ดังนั้น เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจในการมีส่วนร่วมและความเสียสละในด้านการบริหารจัดการน้ำต้นแบบในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์ แก่ภาคีเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองยม-น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ที่ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรมาอย่างยาวนาน จึงได้จัดงานพิธีส่งมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร แก่หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  

    1. อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร
    2. คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
    3. อธิบดีกรมชลประทาน
    4. ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย
    5. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
    6. ประธานหอการค้าจังหวัดสุโขทัย
    7. นายอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    8. นายอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    9. นายอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    10. นายกเทศมนตรีตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    11. นายกเทศมนตรีตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    12. นายกเทศมนตรีตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    13. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    14. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    15. ผู้ใหญ่บ้านคุ้งยาง หมู่ 5 ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    16. ผู้ใหญ่บ้านคลองหกบาท หมู่ 6 ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    17. ผู้ใหญ่บ้านศรีสังวร หมู่ 13 ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    18. ผู้ใหญ่บ้านงิ้วงาม หมู่ 14 ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    19. ผู้ใหญ่บ้านคลองแค หมู่ 7 ตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    20. ผู้ใหญ่บ้านป่ามะม่วง หมู่ 9 ตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    21. ผู้ใหญ่บ้านมิตรภาพ หมู่ 13 ตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    22. ผู้ใหญ่บ้านคลองปู หมู่ 1 ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    23. ผู้ใหญ่บ้านวังแร่ หมู่ 2 ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    24. ผู้ใหญ่บ้านหนองตะเข้ หมู่ 5 ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    25. ผู้ใหญ่บ้านคลองวังทอง หมู่ 8 ตำบลคลองยาง อำเภอสรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    26. ผู้ใหญ่บ้านป่าสัก หมู่ 11 ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
    27. ผู้ใหญ่บ้านนิคมสหกรณ์ หมู่ 5 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    28. ผู้ใหญ่บ้านนิคมสหกรณ์ หมู่ 6 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    29. ผู้ใหญ่บ้านคลองมะพลับ หมู่ 8 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    30. ผู้ใหญ่บ้านโรตารี่ หมู่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
    31. ผู้ใหญ่บ้านปากคลอง หมู่ 1 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    32. กำนันตำบลคอรุม บ้านคลองกล้วย หมู่ 8 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    33. ผู้ใหญ่บ้านหนองลี หมู่ 10 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    34. ผู้ใหญ่บ้านไทรเอน หมู่ 11 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    35. ผู้ใหญ่บ้านบางนาเหนือ หมู่ 12 ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
    36. นายสะอาด นางลำพึง อ่อนทอง บ้านศรีสังวร ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon