ม.นเรศวร เปิดหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาช่างสิบหมู่ 

       วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ในโอกาสที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หอพระไตรปิฎก และห้องนิทรรศการช่างสิบหมู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมทั้งเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาช่างสิบหมู่ให้คงอยู่สืบไป ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก 

       หลังจากนั้น เยี่ยมชมหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (King Naresuan the Great Hall of Honor) จัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งแต่พระองค์พระราชสมภพ ศึกเมืองคังมี แผ่พระบรมเดชานุภาพ ประกาศอิสรภาพ และสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา 

       หอพระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยนเรศวร (Tripitaka Hall) จัดแสดงพระไตรปิฎก ที่เป็นหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรวบรวมบันทึกหลากหลายภาษาของหลายชนชาติ เช่น ภาษาพม่า ภาษาฮินดี ภาษาจีน และอื่น ๆ  ทั้งในรูปแบบหนังสือ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์  

       ห้องนิทรรศการช่างสิบหมู่ (Ten Divisions Of Traditional Thai Crafts) จัดแสดงงานศิลปกรรมต่าง ๆในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยนเรศวรกับงานช่างสิบหมู่” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานช่างสิบหมู่ที่เกิดจากการวิจัย ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มาจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการ เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางด้านศักยภาพ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย และชมสาธิตการดุนโลหะดอกเสลาและ     ดอกรวงผึ้งแบบประยุกต์ การปักไทย โดยศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร  

       หลังจากนั้น เยี่ยมชมผลงานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนเรศวรตามนโยบายของกระทรวง ฯ และสอดรับกับการพัฒนาของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

       1. โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นแม่ข่ายดูแลเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างประกอบด้วย 6 มหาวิทยาลัย ครอบคลุม 11 จังหวัด 165 ตำบล ในการสร้างอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับนิสิต/นักศึกษาและประชาชน

สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จำนวน 25 ตำบล และโครงการของกองส่งเสริมการบริการวิชาการ จำนวน 5 ผลงาน

       2. มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ โดยมีวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือ “ธัชชา” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยสรุปข้อมูลทุนอุดหนุนการวิจัย งบประมาณรายได้ มหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ของบุคลากรสายวิชาการ งบประมาณทั้งสิ้น 3,770,000 บาท จำนวน 22 โครงการ ดังนี้

       1. ด้านพิพิธภัณฑ์ชั้นเลิศ (7 โครงการ) เช่น

       – การออกแบบอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกด้วยการ์ตูนคาแรคเตอร์ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน สำหรับศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

       – การออกแบบระบบการให้ข้อมูลภายในพิพิธภัณฑ์ผ่านอุปกรณ์ติดตามตัวโดยการประยุกต์ใช้บีคอนเทคโนโลยี 

       2. ด้านศิลปกรรมท้องถิ่น (6 โครงการ) เช่น

       –  วงกลองอืด : ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดนตรีในสังคมชาวแพร่ 

       – การออกแบบเครื่องรางนำโชคจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านความเชื่อเกี่ยวกับสัญลักษณ์เครื่องราง ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก 

       3. ด้านศิลปกรรมท้องถิ่น และสุวรรณภูมิศึกษา (1 โครงการ) คือ

       – ลิลิตพระลอ: การดำรงอยู่ การสืบทอด และการรับรู้ของเยาวชนในเขตภาคเหนือ 

       4. ด้านสุวรรณภูมิศึกษา (4 โครงการ) เช่น

       – การศึกษาท่ารำและนาฏยลักษณ์จากหลักฐานทางโบราณคดีของอารยธรรมสุวรรณภูมิ 

       – สถานภาพองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้ประกอบพิธีกรรมร่างทรงกะเทย ในดินแดนอุษาคเนย์ 

       5. ด้านอื่น ๆ (4 โครงการ) เช่น

       การพัฒนานวัตกรรมเครื่องดนตรีตามแนวคิดดนตรีบำบัดสำหรับออกกำลังกายในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน 

       1. หน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า ประจำจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร                                            

       2. โครงการส่งเสริมและจัดการความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวตะเข็บ ชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ระยะที่ 1 และระยะที่  2 จำนวน 10 พื้นที่

       3. โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก”

       4. ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 9 ผลงาน

       5. ผลงานการดำเนินงาน ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและต่างประเทศ       

 

 

« ของ 2 »

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon