เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารสัมมนา วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology เพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology ให้ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากแนวคิดของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็กระดับชุมชนและระดับ SMEs จะถูกบริหารจัดการในภาพรวมด้วยเทคโนโลยี SMART Microgrid ที่ชาญฉลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (Flexible Grid) และด้วยเทคโนโลยี Blockchain Network ที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อขายพลังงานกับผู้ผลิตหรือระหว่างกันเอง ณ เวลาที่เหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามแนวนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน โดยโครงการนำร่องสู่การพัฒนาธุรกิจจะขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัย เป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรม ย่อมต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรม การผลิตของประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการ ด้วยการสร้าง Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เช่น startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)