แพทย์ มน. ให้ความรู้เบื้องต้น กรณีมาตรการป้องกันโรคที่แตกต่างกัน 

    ในแต่ละฤดูกาลมีโรคที่เกิดการแพร่ระบาดอยู่หลากหลายโรค และสถานการณ์ล่าสุดยังคงมีการกล่าวถึงโรคโควิด  19 กันอยู่ รวมถึงอาจจะมีการตั้งคำถามหรือข้อสงสัยขึ้นมาว่า เหตุใดการควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละโรคจึงมีมาตรการที่แตกต่างกัน ทีมข่าวจึงได้มีโอกาสสอบถามไปที่นายแพทย์สุรัตน์  วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด  19 โรคไข้เลือดออก รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า “ประเด็นในเรื่องของมาตรการที่แตกต่างกัน หรือแนวทางการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ก็คงจะต้องกลับไปที่สิ่งที่ทำให้เกิดโรค หรือการแพร่กระจายโรค เนื่องจากโรคโควิด  19  กับไข้เลือดออก มีการนำการแพร่กระจายที่ไม่เหมือนกัน ไข้เลือดออกนำโดยยุงอย่างที่เราทราบกันก็คือ  การนำโดยสัตว์ตัวกลาง แมลงตัวกลางซึ่งในที่นี้ก็คือยุง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการควบคุมโรค จะไปจำกัดที่ตัวกลาง ก็คือการไปทำลายยุง ไปทำลายลูกน้ำยุงลาย เพื่อตัดวงจรการนำโรคไข้เลือดออกมาสู่คน  

    ในขณะที่โรคโควิด  19 จะคล้าย ๆ กับไข้หวัดใหญ่ คือ การแพร่กระจายหรือการนำโรคของเขาจะผ่านละอองฝอย เช่น การไอจามรดกัน เพราะฉะนั้นในการป้องกันก็จะต่างกันออกไป โดยไข้หวัดใหญ่กับ โควิด  19 อาจจะคล้าย ๆ กันในแง่ของการป้องกันส่วนบุคคลก็คือการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ บ่อย ๆ การดูแลสุขอนามัยทั่วไป การรับประทานอาหารอะไรต่าง ๆ เป็นต้น  

    แต่ประเด็นของไข้หวัดใหญ่มีวัคซีนช่วยป้องกัน ในขณะที่โควิด  19 เป็นโรคอุบัติใหม่เพิ่งเจอโรคนี้  ซึ่งโคโรน่าไวรัสมันมีมานานแล้ว เพียงแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมของเขาไม่ก่อโรครุนแรงแบบนี้ พอมีการพัฒนากลายเป็นโควิด  19 การก่อโรคจึงรุนแรงขึ้นเป็นโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยเจอ เลยทำให้กระบวนการรักษาหรือกระบวนการคิดค้นวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย ซึ่งในอนาคตก็น่าจะมี แต่ตอนนี้เรื่องการผลิตวัคซีนก็ยังคงจะต้องใช้เวลา  

    สำหรับไข้เลือดออกมีวัคซีนแล้ว แต่เหตุที่ไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีข้อมูลว่าวัคซีนของโรคไข้เลือดออกจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่ผู้ป่วยเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วในกลุ่มนี้ ซึ่งประโยชน์ของวัคซีนไข้เลือดออกชัดเจนว่า ช่วยทั้งป้องกัน ลดอัตราการสูญเสียชีวิต ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดความรุนแรงของโรค เป็นต้น แต่ัญหาก็คือว่า ในทางปฎิบัติเวลาคนไข้มารับวัคซีน ไม่สามารถรู้ได้ว่าคนดังกล่าวเคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหรือไม่ และมีรายงานบางส่วนว่าในคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกเลย แล้วมารับวัคซีนไข้เลือดออกอาจจะทำให้มีอัตราการนอนโรงพยาบาลมากขึ้นเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง  

    เพราะฉะนั้นการให้วัคซีนในคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกเลยเหมือนจะมีข้อเสียอยู่บ้างเล็กน้อย  จึงเป็นปัญหาว่าไม่สามารถนำวัคซีนมาใช้ได้กับทุกคนได้ ซึ่งจะแตกต่างจากวัคซีนอื่น ๆ โดยเฉพาะวัคซีน ไข้หวัดใหญ่สามารถให้ได้ในทุก ๆ คนถึงแม้ข้อแนะนำจะบอกว่ากลุ่มความเสี่ยงที่ควรได้คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือคนสูงอายุ แต่บุคคลทั่วไปที่แข็งแรงดีก็สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ซึ่งจะต่างกันกับในเรื่องของไข้เลือดออก จึงทำให้วัคซีนไข้เลือดออกตอนนี้ยังมีปัญหาในเชิงการนำมาใช้โดยภาพรวมคือให้ประชากรโดยทั่วไปยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่าคนที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ จากไข้เลือดออกคือคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว โดยเฉพาะเป็นประวัติที่ถูกบันทึกโดยแพทย์ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ 

    อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติความเป็นจริงแล้วยากมาก เพราะว่าคนไข้ส่วนหนึ่งถึงแม้ป่วยด้วยไข้เลือดออก ก็จะไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเพราะว่าบางทีอาการไม่มากก็จะไม่ได้มารับการรักษาที่โรงพยาบาล และก็ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย ซึ่งในประชากรทั่วไปในความเป็นจริงอาจจะทราบได้เพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ว่าเคยป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่อีกกลุ่มใหญ่เลยไม่ทราบตัวเองว่าเคยป่วยหรือยัง  

    นายแพทย์สุรัตน์ ให้คำตอบกับคำถามที่ว่า ควรตรวจเลยหรือไม่ว่าคนนี้เคยป่วยหรือไม่เคยป่วยด้วยไข้เลือดออกมาก่อนหรือไม่ สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาอีกเช่นเดียวกันเพราะว่าเครื่องมือตรวจ ณ ปัจจุบันยังมี ความซับซ้อนในการแปลผล มีความซับซ้อนในการตรวจต้องใช้เครื่องมือที่ยุ่งยาก ต้องใช้คนที่มีความชำนาญ  ก็เลยทำให้เป็นปัญหาในการที่ว่าจะตรวจก่อนฉีดวัคซีนหรือไม่ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่  

    ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของคนในประเทศไทยในช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น ก็คือมีคนเก็บข้อมูลในคนไข้  ราว ๆ อายุ 20 ปี 18 ปี ที่แข็งแรงดี ก็มีการเจาะดูที่ทางการแพทย์เรียกว่าเป็นการเจาะแบบดูภูมิต้านทาน  ว่าเขาเคยมีภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกไหม เนื่องจากบ้านเราเป็นแหล่งระบาดของไข้เลือดออก  ถ้าอายุประมาณ 20 ปี เชื่อว่าเป็นไข้เลือดออกกันเกือบหมด เพียงแต่ว่าบางทีไม่ทราบ ในข้อมูล 80  90 ในคนไข้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นไข้เลือดออกกันเกือบหมดแล้ว ก็จะเหลืออยู่แค่ประมาณ 5  10 ที่ยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออก เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ถ้าเราอายุมากกว่า 20 ปี จริง ๆ แล้วการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกก็อาจจะไม่น่าจะมีผลเสียมาก เมื่อเทียบกับคนที่อายุน้อยกว่านั้น ดังนั้น ถ้าเราอายุเกิน 20 ปีแล้ว ส่วนตัวหมอเองก็ว่าการให้วัคซีนไข้เลือดออกก็มีประโยชน์” นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมให้ข้อมูลเบื้องต้น 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon