อาจารย์เภสัชฯ มน.พัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจฯ ลดการใช้ยาไม่จำเป็น

    หลังผ่าตัดหัวใจอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยจึงต้องฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดหลังการผ่าตัดโดยฝึกการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นตัว ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดการใช้ยาไม่จำเป็น นำไปสู่การลดโอกาสเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาได้ในทางอ้อม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมถาม – ตอบ เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก โดย ดร.ภก ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กันเลย 

    คำถาม : ให้อาจารย์ช่วยให้ความรู้เบื้องต้นว่า การฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก มีความสำคัญอย่างไร 

    “สาเหตุที่ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดหัวใจและทรวงอก จะต้องมีการฝึกสมรรถภาพการหายใจนั้น มีเหตุผลหลายประการด้วยกัน อย่างแรกคือ เพื่อเป็นการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาหายใจได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นปกติได้ไวที่สุด อย่างที่สอง เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการติดเชื้อ หรือความผิดปกติทางปอดหรือหัวใจ ดังนั้น การที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้น และกลับมาหายใจได้ด้วยตนเองได้อย่างดีขึ้นก็จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้” 

    คำถาม : ให้อาจารย์เล่าถึงที่มา ของการพัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก เป็นอย่างไรบ้าง 

    “หลังผ่าตัดหัวใจอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยจึงต้องฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดหลังการผ่าตัดโดยฝึกการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นตัว ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดการใช้ยาไม่จำเป็น นำไปสู่การลดโอกาสเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยาได้ในทางอ้อม และพอเมื่อย้อนกลับไปที่ประมาณสัก 5 ปีที่แล้ว มีพี่พยาบาล ขออนุญาตเอ่ยนาม พี่พยาบาลวิชาชีพ แพรวน้ำผึ้ง พนมชัยสว่าง พี่เขาก็เดินมาถามว่า จะทำยังไงดี เพราะว่าที่วอร์ดมีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือว่าซ่อมลิ้นหัวใจอยู่จำนวนมาก และเครื่องฝึกสมรรถภาพการหายใจที่มีอยู่มีราคาแพงมากเหลือเกิน และผู้ป่วยของโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุเป็นหลัก และใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท  ก็ทั้งสองอย่าง ก็คือ หนึ่งไม่สามารถที่จะออกแรงได้มากนัก ในการที่จะใช้เครื่องช่วยฝึกหายใจที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ พอใช้ไม่ได้เขาก็เริ่มขาดความเชื่อมั่น ขาดกำลังใจ และก็ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการที่ฝึกสมรรถภาพหายใจ ดังนั้น ระยะเวลาในการที่เขาจะกลับมาหายใจได้เป็นปกติหรือว่าการหายของโรคก็จะล่าช้าไปกว่าที่ควรจะเป็น ในประการที่สอง ก็คือ เราอยากจะมีเครื่องมือที่มันง่ายและมีราคาถูก ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคกัน ต้องขอขอบพระคุณพี่เขาเหมือนกันว่า เป็นคนที่จุดประกายให้ผมได้คิดขึ้นมา เพราะว่าก็เริ่มจากศูนย์เลยเหมือนกัน ไม่มีไอเดียหรือว่าจะคิดอะไรเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนเลย 

    ต่อมา ต้องขอขอบคุณ รศ.นพ.จรัญ สายะสถิต ที่อำนวยความสะดวกทุกอย่าง และก็ให้กำลังใจทีมงานตลอดเวลา ทีนี้ก็ได้ไปปรึกษาร่วมกับรุ่นพี่ที่เป็นวิศวกรเครื่องกล พี่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นินนาท ราชประดิษฐ์ ซึ่งอาจารย์มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลก็มาช่วยกันคิดว่า ถ้าจะมีการทำเครื่องฝึกหายใจ ฝึกสมรรถภาพการหายใจแบบง่าย ๆ กลไกอะไรจะเป็นกลไกที่เข้ามาช่วยได้ดีที่สุด และที่สำคัญก็คือจะต้องไม่ซับซ้อนมากเกินไป และราคาจะต้องถูกและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 

    พอเราได้ไอเดียขึ้นมา ก็มาพอดีกับการมีโปรเจค เป็นช่วงโปรเจคของนิสิตคณะเภสัชศาสตร์พอดี ก็ได้นิสิตมา 2 ท่าน ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ร่วมกัน และก็ได้มีการพัฒนาเริ่มจากศูนย์ เราไม่มีภาพของเครื่องมือนี้มาก่อน ดังนั้น เราก็ได้ทบทวนวรรณกรรม ลองผิด ลองถูก ในหลาย ๆ กรณี สุดท้ายแล้วเราก็ได้เครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจขึ้นมา 

    สำหรับหลักการง่าย ๆ ของการพัฒนาเครื่องมือฯ ดังกล่าว ก็คือมาโนมิเตอร์ ใช้หลักการของท่อตัว U  เพียงแค่เรานำท่อตัว นี้ มาประสานเข้าไว้ด้วยกันเป็นท่อเดี่ยว และก็ให้ผู้ป่วยหายใจผ่านเข้าไปในท่อตัว นี้ คล้ายกับเราคว่ำขันน้ำลงใต้น้ำ แล้วก็หายใจผ่านจากใต้น้ำขึ้นมาแล้วก็ได้เป็นอุปกรณ์ขึ้นมา เราก็เริ่มต้นด้วยเงินทุนของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เราพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่างานนี้เกิดจากมหาวิทยาลัยในทุกภาคส่วน หรือสหสาขาวิชาชีพจริง ๆ ซึ่งเงินทุนวิจัยก็ 5,000 บาท เป็นการใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด จริง ๆ ใช้ไม่ถึงใช้ไป 2 พันกว่าบาท” 

    คำถาม : กระบวนการทดสอบเครื่องมือฯ เป็นอย่างไร 

    “ในการทดสอบแน่นอนว่า เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ มาสักอย่างหนึ่ง เราจะต้องมีการทดสอบอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1 เป็นการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพ ประเด็นที่ 2 เป็นการทดสอบด้านความปลอดภัย และประเด็นสุดท้ายเป็นการทดสอบการใช้งานจริง ความสะดวกสบายใจในการใช้งานจริง 

    ในด้านประสิทธิภาพเราแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน 1. ก็คือการทดสอบในห้องปฎิบัติการ การทดสอบในห้องปฎิบัติการ จะทดสอบวัดความดันที่สร้างได้จากการหายใจโดยเทียบกับตัววัดความดันที่เป็น Digital Gauge มาโนมิเตอร์ที่มีมาตรฐานได้รับการตรวจคาลิเบรทมาแล้วว่า ค่าความดันที่เราเห็นจากเครื่องมือของเรา ตรงกับ Digital Gauge นาโนมิเตอร์หรือไม่ เมื่อทดสอบตรงนี้ผ่านจนได้ความมั่นใจ จึงนำไปทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครสุขภาพดี ซึ่งต้องขอขอบพระคุณท่านรองคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ท่าน ผศ.ดร.วีระพงศ์ ที่ช่วยหานิสิตปริญญาโทของท่านมานำเครื่องมือนี้ไปทดสอบการใช้งานในอาสาสมัครสุขภาพดี ก็พบว่า สามารถช่วยทำให้มีการหายใจได้ดีมากขึ้น และอาจารย์ก็ได้ทดสอบในแง่ความปลอดภับด้วยพบว่า เครื่องมือของเราไม่พบการที่จะไปรบกวนเกี่ยวกับระบบการหายใจหรือว่าระบบของหัวใจ การเต้นของหัวใจแต่อย่างใด ในการฝึกในช่วงสั้น ๆ 

    แต่ข้อมูลที่ยังขาดอยู่ตอนนี้ก็คือ ข้อมูลในผู้ป่วยจริง ซึ่งแน่นอนว่าการทำการวิจัยต้องผ่านในขั้นตอนของการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีก่อน หลังจากนั้นค่อยไปสู่ผู้ป่วยได้ ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการขอจริยธรรมการวิจัยและก็จะศึกษาในขั้นตอนต่อไป” 

    คำถาม : เครื่องมือฯ ที่พัฒนาขึ้น มีความโดดเด่นกว่าเครื่องมือแบบเดิมอย่างไร 

    “ต้องขอบอกก่อนว่าในประเทศไทยมีเครื่องมือในลักษณะนี้อยู่หลายชิ้นด้วยกัน แต่ชิ้นที่มีขายอยู่จริงมีอยู่ยี่ห้อเดียว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือของเรากับเครื่องมืออื่น ๆ ที่มีขายหรือมีการประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในท้องตลาด จุดเด่นที่สำคัญที่สุดก็คือ เครื่องมือของเราสามารถที่จะอธิบายได้ด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์ สามารถบอกได้ว่าปริมาตรที่สร้างขึ้นเกิดจากสูตรอะไร มีที่มาจากอะไร ความดันที่สร้างขึ้นมาจากอะไร ในขณะที่เครื่องมืออื่น ๆ อาจจะอธิบายในส่วนนี้ได้ไม่ชัดเจนมากนัก 

    จุดเด่นที่ 2 คือ มีราคาต้นทุนการประดิษฐ์ประมาณ 100 บาท ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมแล้วก็มีการผลิตในเชิงพานิชย์ราคาย่อมจะลดลง แน่นอนก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด จุดเด่นอันที่ 3 ก็คือ การใช้น้ำเป็นตัววัดระดับความดัน ดังนั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้อย่างอื่นหรือว่าจะต้องซื้ออุปกรณ์เสริมใด ๆ เข้ามาเสริม และจุดเด่นสุดท้าย คือ สามารถที่จะทำความสะอาดชิ้นส่วนการใช้งานเมื่อดูจากจุดเด่นข้างต้น พี่น้องประชาชนสามารถนำมาประกอบใช้เองได้หรือไม่” 

    คำถาม : จากต้นทุนการประดิษฐ์เพียง 100 บาท นั้น ดูเหมือนว่าผู้ที่สนใจสามารถประดิษฐ์ ประกอบใช้เองได้เลยหรือไม่ 

    “ถามว่านำมาประกอบด้วยตัวเองได้หรือไม่ สามารถทำได้ สามารถทำได้ด้วยตัวเองเป็น D.I.Y. ที่บ้านได้ แต่ว่าในเชิงทฤษฎีทางการแพทย์จะมีในเรื่องของค่าบางอย่างที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ยกตัวอย่างเช่น ค่าความดันจากการหายใจของผู้ป่วยที่ผ่าตัดหัวใจและทรวงอก จะต้องอยู่ในค่าใดค่าหนึ่งจะมีค่ามาตรฐานอยู่ การประดิษฐ์ด้วยตัวเองบางที อาจจะต่ำกว่ามาตรฐานนี้หรือว่าสูงเกินไปที่ผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะนำไปใช้ได้ 

    ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอที่ดูแลเพราะว่าต้องการระดับไหนความดันระดับไหน ก็ประดิษฐ์ขึ้นมาได้เอง แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ของเราได้มีการจดอนุสิทธิบัตร และก็สิทธิบัตรการออกแบบก็จะถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้วส่วนหนึ่ง 

    ในส่วนที่จะทำในผู้ป่วยจริง ก็จะทำตามระดับไป เริ่มจากผู้ป่วยที่ความรุนแรงของโรคน้อย ปานกลาง และก็มาก เพื่อดูว่าความสามารถของอุปกรณ์นี้มันจะช่วยผู้ป่วยในความรุนแรงในระดับไหนได้ เป็นอย่างไร แล้วเราอาจจะต้องมีการประยุกต์อีกครั้งหนึ่งว่า เรามีความจำเป็นจะต้องมีการปรับอุปกรณ์นี้อย่างไรหรือไม่ว่า จะต้องมีปรับคำแนะนำให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ระดับความรุนแรงได้อย่างไร” 

    คำถาม : เครื่องมือฯ นี้ ใช้ระยะเวลาในการไปทดสอบในผู้ป่วยจริง นานเพียงใด 

    “ใช้เวลาไม่มาก แต่ว่าข้อจำกัดที่สำคัญก็คือจำนวนผู้ป่วยจะต้องมีมากพอ เพื่อให้ยืนยันทางสถิติมันเป็นวิทยาศาสตร์ และก็สามารถจะบอกความแตกต่างทางคลินิกให้ได้ว่าอุปกรณ์ของเรามีประสิทธิภาพจริง เราก็ต้องใช้เวลาในการที่จะต้องรอเคสให้มากพอ อีกอย่างหนึ่งในเรื่องของเงินทุนวิจัยที่จะต้องใช้ในการประดิษฐ์เครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้มีมาตรฐานทุกครั้ง เพราะว่าการที่จะทำงานวิจัย ก็จะต้องมีมาตรฐานของงานวิจัย และเครื่องมือที่ใช้จะต้องมีมาตรฐานสูงสุดในทุกครั้งของการทำวิจัย” 

    คำถาม : หากระหว่างนี้มีคนสนใจ และมีเคสที่สอดคล้องกับเครื่องมือนี้ จะมีโอกาสขอไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ อย่างไร 

    “มีหลายเคสที่ขออุปกรณ์นี้ไปทดลองใช้ เขาก็บอกว่าใช้ได้ง่าย สะดวก และเขาก็รู้สึกว่า เขาหายใจได้ดีมากขึ้น เขามีกำลังใจมากกว่าในการใช้อุปกรณ์แบบปกติ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะของลูกบอล 3 ลูก แบบเดิมเขาไม่สามารถสูดได้สักลูกเดียว พอเขาสูดไม่ขึ้นสักลูกเดียวเขาก็หมดกำลังใจที่จะทำ หรือเบื่อที่จะทำ 

    แต่ของเราแม้แต่ 1 มิลลิเมตร ก็เห็นความแตกต่างแล้ว ดังนั้น ถ้าถามว่านำไปใช้ด้วยตัวเองที่บ้านได้ไหม ก็ต้องตอบว่าใช้ได้ แต่ว่ายังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ เพราะว่าถ้าเราบอกว่ามีประสิทธิภาพ เราต้องบอกว่ามีประสิทธิภาพในทางการแพทย์ 

    ดังนั้น การที่จะมั่นใจว่ามีประสิทธิภาพทางการแพทย์จริง ต้องมีการศึกษาทางคลินิกที่เป็นวิทยาศาสตร์และก็มีความตรงภายในระเบียบวิธีวิจัยในระดับสูงมายืนยัน แต่ถ้าถามในมุมของผม ผมว่าสามารถที่จะทดลองใช้ได้ แต่ว่าผู้ใช้ต้องเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น อาจจะหอบเหนื่อยเกินไป หรือว่าจำนวนครั้งที่ใช้ หรือว่าเกิดการสำลักเหล่านี้ จะต้องมีความระมัดระวังในส่วนนี้ด้วยตนเอง” 

 

    คำถาม : ผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อผ่านช่องทางใดได้บ้าง 

    สามารถติดต่อมาได้ทางคณะเภสัชศาสตร์โดยตรง ผ่านทางช่องทางไหนก็ได้ หรือติดต่อผ่านทางอีเมล์ prayuthp@nu.ac.thyuth_pu@hotmail.com  ยินดีสำหรับทุกท่าน ที่จะช่วยท่านทำให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พวกเราก็ยินดีและอยากที่จะช่วยทุกคน 

ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมประกอบข่าว : กองการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon