อาจารย์ทันตแพทย์ มน. แนะหากใช้ยาแก้ปวดฟันแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบหยุดและพบแพทย์ทันที 

     ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ความปวดจากฟันคุดมาบ้าง คงจะเข้าใจกับความรู้สึกนั้นได้ดีเลยทีเดียว และล่าสุดจากกรณีข่าวที่เป็นอุทาหรณ์จากผู้ที่มีอาการปวดฟันจากฟันคุด และมีอาการแพ้จากการใช้ยาแก้ปวดที่รุนแรงนั้น ทางทีมข่าวจึงได้มีโอกาสสอบถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพภายในช่องปากแล้วมีอาการปวด ควรซื้อยารับประทานเองหรือไม่  และล่าสุดการให้บริการของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วงสถานการณ์โควิด – 19 เป็นอย่างไร กับ ผศ.ทพญ.ดร.มยุรัชฎ์ พิพัฒภาสกรรองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาติดตามกันเลย 

     คำถาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพภายในช่องปากแล้วมีอาการปวด ควรซื้อยารับประทานเองหรือไม่ อย่างไร 

     ส่วนมากถ้าเกิดอาการปวด สิ่งที่แนะนำคือการรับประทานยาแก้ปวดที่มีอยู่ที่บ้านที่เราเคยทาน แน่นอนคนไข้เคยทานตอนที่เราปวดหัว ตัวร้อน ถ้าทานแล้วมันไม่แพ้อันนั้นคือทานได้เลย พาราเซตามอลเป็นยาตัวแรกถ้าคนไข้ไม่มีปัญหา ถ้าหากปวดปานกลางค่อนข้างหนักพาราเซตามอลช่วยไม่ได้แล้ว อาจจะเปลี่ยนไปใช้ไอบูโพรเฟนก็ย่อมได้ถ้าคนไข้มั่นใจว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ แต่ในกลุ่มของวัยรุ่น เด็ก ๆ เริ่มทานครั้งแรกอาจจะมีปัญหาหากยังไม่ทราบว่าตัวเองแพ้ไอบูโพรเฟนหรือเปล่า 

     อย่างไรก็ตาม การที่เราจะบอกว่าเริ่มทานยาอะไร ขอแนะนำให้ซื้อยาที่มีเภสัชกรประจำให้คำปรึกษา ว่ายานั้นทานอย่างไร ถ้าเกิดอาการแพ้ให้ทำยังไง สิ่งนี้ขอแนะนำเลยว่า อย่างกรณีที่มีเคสที่ปวดฟันคุดแล้วไปทานยาไอบูโพรเฟนแล้วเกิดอาการแพ้ สิ่งที่เราแนะนำก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามเกิดสิ่งผิดปกติ อาการผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดยาทันที อาการผิดปกติอะไรได้บ้างที่พบ อันดับแรกเลยส่วนมาก ก็คือ ผื่นขึ้นไม่ว่าเล็กน้อยหรือมากนะคะ อันนี้ คือสังเกตได้ง่าย ๆ คือ ผื่นจะขึ้นที่ผิวหนังแล้วจะคัน หลังจากนั้นมันก็จะไปสู่ระบบอื่น คนไข้อาจจะมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือระบบอื่น ๆ ที่ผิดปกติไป หรือแม้กระทั่งการแพ้อาจจะเกิดขึ้นได้ทันทีหรือว่า  2 วัน หรือแม้กระทั่ง 2 เดือนก็ยังมี อาจจะช้าในคนไข้บางคน หรือบางคนเป็นถึงขนาดที่หยุดหายใจได้  ก็คือ มันไม่ได้หยุดหายใจนะคะ ก็คือ เกิดอาการแพ้จนกระทั่งทางเดินหายใจอุดกั้นจนหายใจไม่ได้อย่างนี้ค่ะ มันก็รุนแรง 

     เพราะฉะนั้น อาการผิดปกติใด ๆ ก็ตามที่แปลกไป ให้คำนึงถึงว่าเราได้ทานอะไรที่ต่างจากปกติก็น่าจะเป็นยาตัวที่ทานล่าสุดได้ แล้วให้หยุดยา พบแพทย์ทันที และนำยาไปด้วยทุกครั้ง พร้อมฉลากยาเพื่อให้ได้ทราบและแก้ไขได้ทันที อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดทานเองได้ค่ะ แต่ว่าต้องทานเฉพาะที่เราเคยทานก่อนดีกว่า ทานยาที่อันตรายน้อยสุดก่อน หากถ้ามันปวดไม่ไหวเราก็คงต้องเปลี่ยนยาที่มันช่วยระงับปวดได้มากขึ้นค่ะ 

     จริง ๆ มันไม่ผิดที่คนไข้จะดูแลรักษาตัวเองก่อนเบื้องต้นด้วยความรู้ที่คนไข้มี หรือความสามารถที่คนไข้มี แต่ว่าเมื่อเกิดความปวด มีความไม่สบายเบื้องต้นเหมือนกันอยู่แล้วกับตอนที่มีอาการไข้ปวดหัว  เราสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่อยู่ที่บ้านได้นะคะ ถึงแม้บรรเทาได้แล้วแต่ถ้ายังหาสาเหตุไม่เจอก็ต้องมาพบหมออยู่ดี แต่การที่เราให้หายปวดเอง แล้วค่อยกลับมาพบทันตแพทย์บางทีมันอาจจะไม่ชัดในบางโรค การที่มาตอนปวด คุณหมอจะตรวจได้ง่ายกว่าในบางโรคก็ขอให้มาพบทันตแพทย์ก็จะดีกว่าถ้ามีอาการปวด สามารถมาพบทันตแพทย์ได้ค่ะ 

     คำถาม การให้บริการล่าสุดของ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วงสถานการณ์โควิด – 19 เป็นอย่างไร 

     ก่อนหน้านั้นเราเปิดรักษาเฉพาะเคสฉุกเฉิน ตอนนี้เราผ่อนปรนมากขึ้นสำหรับบริการในเวลาราชการเรารับเคสเร่งด่วน กล่าวคือถ้าคนไข้มีอาการปวด บวม มีความไม่สบายในช่องปากก็โทรมานัดก่อนได้ สิ่งที่สำคัญคืออยากให้คนไข้โทรเข้ามาก่อน นัดหมายกัน หรือว่าปรึกษาทางโทรศัพท์ได้ ล่าสุดทางโรงพยาบาลทันตกรรมกำลังพัฒนาระบบให้คำปรึกษาแบบเห็นหน้ากันได้ สามารถเห็นภาพภายในช่องปากของคนไข้ได้  

     สำหรับนอกเวลาราชการ ตอนนี้เราเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 รับเคส เร่งด่วน ฉุกเฉินเช่นเดียวกัน และก็ทำเคสต่อเนื่อง เนื่องจากเรามีเคสที่พักไว้เมื่อ 2 เดือนที่แล้วยังค้างอยู่ ยังจัดการ ไม่เรียบร้อย รักษาค้างอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะขอดูแลคนไข้ที่เราค้างอยู่ก่อน ส่วนคนไข้ใหม่ก็ใช่ว่าไม่รับนะคะ แต่จะรับกรณีเร่งด่วนก่อนค่ะ เพราะว่าเนื่องจากต้องจัดการเรื่องการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด  19 ตอนนี้การดูแลความสะอาดมีความจำเป็นค่อนข้างมาก ต้องใช้ความพิถีพิถัน ต้องทิ้งระยะเวลาให้ปลอดภัยก่อนถึงจะเข้ามาใช้บริการได้ เพราะฉะนั้นเราจึงรับคนไข้ได้น้อยลงต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามเราก็อยากดูแลคนไข้ให้ทั่วถึง อย่างไรก็โทรเข้ามานัดหมายก่อนนะคะ 

     ส่วนการรักษาต่อเนื่องหมายความว่า บางโรคเป็นโรคเรื้อรัง อย่างโรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ ขั้นรุงแรงมากกว่าที่จะอักเสบในเหงือกเล็ก ๆ น้อย ๆ ขูดหินปูนแล้วหาย อันนี้โรคปริทันต์เป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อาจจะมาพบคุณหมอ 2 สัปดาห์ อาจจะมาพบคุณหมอในช่วงแรก ๆ ค่อนข้างดีขึ้น แล้ว 3 เดือน ค่อยมาพบใหม่ ในทุก ๆ 3 เดือนบางโรคเป็นอย่างนั้น หรือว่าเนื้องอกในช่องปากก็ต้องมาพบคุณหมอเป็นระยะที่ควรจะเป็น หรือคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่มีฟันผุค่อข้างรุนแรง อันนี้คุณหมอขอพบทุก ๆ 3 เดือน  นั่นก็คือการรักษาที่ต่อเนื่อง หรือบางงานที่มาหลาย ๆ ครั้ง ก็ต้องถือว่าต่อเนื่อง แต่พอจบการรักษานั้นแล้ว  ก็จะไม่ต่อเนื่องแล้วอันนี้ก็แล้วแต่ ซึ่งก็อาจจะไม่ชัดเจนในการบอก แต่ว่าอย่างไรก็ตามทันตแพทย์แนะนำให้คนไข้ทุกคนหรือว่าประชาชนทุกคนพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นเรื่องปกติเพราะว่า อาการของโรคถ้าพบภายใน 6 เดือน เราจะเจอปัญหาเบื้องต้นหรือว่าโรคระยะเริ่มแรก เราสามารถจัดการได้ง่ายได้ดี ดังนั้น  ทุก 6 เดือนเป็นสิ่งที่เราแนะนำค่ะ  

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon