สูตรสำเร็จมาแล้ว!! โปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่ฯ ปรับประยุกต์ได้ทุกพื้นที่ ลดเสี่ยงภัยโควิด – 19

     หน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นพี่เลี้ยงการศึกษาวิจัยในโปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่ โดยประยุกต์ใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการให้แรงสนับสนุนทางสังคมในกลุ่มประชาชนของ PCC ลานดอกไม้ อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

     นางสาววารุณี คร่ำสุข แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 30 – 65 ปี ที่มีระดับการติดสารนิโคตินอยู่ในระดับปานกลาง และมีความต้องการอยากเลิกสูบบุหรี่ จำนวน 60 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ซึ่งโปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่ได้ประยุกต์ใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการให้แรงสนับสนุนทางสังคม ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 สัปดาห์

     กิจกรรมประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ ผลกระทบจากการหยุดสูบบุหรี่ และวิธีการรับมือ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการช่วยเลิกสูบบุหรี่ ได้แก่ การจิบชาหญ้าดอกขาว การกดจุดนวดเท้า และการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อเสริมพลังใจ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) และสถิติ Paired t-test และ Independence t-test

     ภายหลังการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับบุหรี่สูงกว่าก่อนการทดลองเท่ากับ 3.43 คะแนน ในขณะที่จำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอด และคะแนนของการติดนิโคตินลดลงน้อยกว่าก่อนการทดลองเท่ากับ 17.16 9.70 และ 6.13 ตามลำดับ

     และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยด้านความรู้เกี่ยวกับบุหรี่สูงกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.17 คะแนน และจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอดและคะแนนของการติดนิโคตินของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 12.07 7.06 และ 4.63 ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

     ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่โดยประยุกต์ใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการให้แรงสนับสนุนทางสังคม สามารถช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ และช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป รวมถึงผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วมีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงต่อการติดต่อ และแพร่กระจายเชื้อของโรคโควิด – 19 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะไว้ว่าควรเพิ่มระยะเวลาการศึกษาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูความคงทนของพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ให้มากขึ้น

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon