ดร.ไกร ดาวตาก อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความรู้ว่า เซลล์มะเร็งเต้านมนั้นมีอยู่หลายชนิด ทั้งชนิดที่มีการดำเนินโรคที่รุนแรงและไม่รุนแรง หากกล่าวให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับการเกิดมะเร็ง ก็คงกล่าวได้ว่ามะเร็งเต้านมคือเซลล์ที่ประกอบเป็นเต้านม แต่เซลล์เหล่านั้นมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วการเจริญเติบโตของเซลล์ต้องอาศัยการแบ่งตัว โดยจะถูกควบคุมให้แบ่งตัวจากสัญญาณต่าง ๆ ภายในเซลล์ การควบคุมนี้ทำให้ไม่เกิดการเสียสมดุลของเซลล์ แต่เมื่อใดก็ตามที่สัญญาณ การควบคุมผิดปกติ จะทำให้เกิดพยาธิสภาพเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อมระดับเซลล์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ ควบคุมไม่ได้ เกิดการแบ่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นก้อนมะเร็ง และรุกรานเซลล์ปกติที่อยู่บริเวณโดยรอบ ซึ่งกลไกดังที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถใช้อธิบายกับการเกิดมะเร็ง ชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน
สำหรับสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้น ดร.ไกร เล่าให้ฟังอีกว่า ก่อนหน้านี้เชื่อว่าสาเหตุคือ ความผิดปกติและการส่งต่อทางพันธุกรรม แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบันพบว่า รูปแบบวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น ปัจจัยภายในอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง ปัจจัยภายนอกที่อยู่รอบตัวเราที่มีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะส่งผลกระทบให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น การโดนรังสี การได้รับสารพิษ หรือสารอื่น ๆ ที่อยู่ในอากาศหรือปนเปื้อนในอาหารที่เรากินทุกวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีโอกาสก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน ก็ต้องอาศัยข้อมูลและองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยของ คณะนักวิจัยทั่วโลก
เนื่องด้วยลักษณะที่จำเพาะของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด Triple negative (TNBC) ซึ่งเป็นชนิดที่มีการดำเนินโรคที่รุนแรง มีการแสดงออกของโปรตีนจำเพาะที่ผิวเซลล์ในปริมาณน้อยมาก ทำให้วิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนบำบัดและการรักษาแบบมุ่งเป้าไม่สามารถนำมารักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดนี้ได้ ดังนั้น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจึงเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมในขณะนี้ที่ใช้ในการรักษาโรค
อย่างไรก็ตาม พบว่า ภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เซลล์มะเร็งมักเกิดปรากฏการณ์ดื้อยาเคมีบำบัดและพบผลข้างเคียงจากการรักษา เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีฤทธิ์ในการยับยั้งในระยะการแบ่งตัวซึ่งพบได้ ทั้งในเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงหลังภายหลังจากการใช้ยา เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ภาวะซีด ฯลฯ ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีนักวิจัยหลายกลุ่มทั่วโลก ให้ความสนใจในการค้นหาสารหรือพัฒนาโมเลกุลยาชนิดใหม่ที่จะสามารถรักษาโรคมะเร็งชนิด TNBC ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ ดร.ไกร ได้กล่าวฝากให้แนวคิดอีกว่า “หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งชนิดใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องมี คือ สติ การมีสติทำให้เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ สติทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต้องไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ต้องไม่คิดว่าทำไมต้องเกิดกับเราและต้องปรับทัศนคติในการใช้ชีวิติใหม่ เราต้องเชื่อว่าทุกสิ่งมีเหตุ มีผลและสิ่งสำคัญคือมีวิธีแก้ไขเสมอ ในบางครั้ง
การเชื่อว่าปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เสมอก็ทำให้เรามีความหวังและมีแรงที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง นอกจากการรักษาทางกายแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การรักษาทางใจ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” สำนวนนี้ใช้อธิบายขยายความได้ดี เมื่อกายคุณป่วยเป็นมะเร็ง แต่ใจคุณไม่ป่วย ใจคุณปกติ นั้นหมายถึงคุณพร้อมต่อการรักษา โอกาสที่ร่างกายจะกลับมาแข็งแรงและพร้อมต่อสู้กับโรคมะเร็งก็มีมาก แต่ถ้ากายคุณแย่ จิตใจก็แย่ นั้นคือป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ ความพร้อมในการรักษาก็ไม่มี ซึ่งอาจจะทำให้การดำเนินของโรคเกิดเร็วขึ้นและสุดท้ายก็สายเกินกว่าจะเยียวยาได้
ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์พบเจอกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คุณแม่ผมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า อ.ส.ม. คุณแม่มีโอกาสคลุกคลีกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายหนึ่ง ผู้ป่วยคนนี้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาและติดตามร่วมกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอีก 10 คน ในปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มนี้เสียชีวิตไปแล้ว 9 คน แต่ผู้ป่วยรายนี้ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในระยะท้ายของโรค คุณแม่ได้เล่าให้ฟังว่า ได้สอบถามถึงวิธีการปฎิบัติตนและการใช้ชีวิต พบว่า เคล็ดลับสำคัญคือ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป พบแพทย์ตามเวลาที่แพทย์นัด ปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรักษาด้วยวิธีที่แพทย์แนะนำทุกประการ
ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า หากได้รับการวินิจฉัย ประการแรก มีสติและควบคุมสติตนเองให้ได้ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ทุกประการ หากจะถามว่าผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสหายขาดไหม ก็คงต้องตอบไปว่า หากพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสหายหากได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันท่วงที แต่ในมะเร็งระยะท้ายก็ต้องมีการควบคุมโรคโดยการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถึงแม้ว่าเมื่อรักษาแล้วพบว่าจะตรวจไม่พบก้อนมะเร็งก็ตาม จะต้องมีการตรวจติดตามเพื่อประเมินเป็นระยะ เนื่องจากในบางครั้งมะเร็งอาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้นโดยควาเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า คงไม่สามารถใช้คำว่าหายขาดได้ นอกจากการควบคุมให้เซลล์มะเร็งสงบ ไม่เพิ่มจำนวนหรือรุกรานเซลล์ปกติในร่างกาย หรือจะให้คำว่า ใช้ชีวิตอยู่กับเซลล์มะเร็งด้วยอหิงสาวิธี” ดร.ไกร กล่าวฝากให้แนวคิดเป็นการทิ้งท้าย