วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพันชาลี ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ดร.สมคิด คำแหง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจากนายณรงค์ ชัยจำรัส นายอำเภอวังทอง ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ตำบลพันชาลีเข้าร่วม
ดร.สมคิด คำแหง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การจัดโครงการมหาวิทยาลัยนเรศวรสัญจร เอื้ออาทรชุมชน ประจำปี 2563 ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามามีบทบาทที่สำคัญร่วมมือและประสานงานกับเทศบาลตำบลพันชาลี เพื่อมุ่งเน้นให้ตำบลพันชาลี เป็นตำบลที่มีความเข้มแข็งในการพัฒนามิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติของการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆที่ระดมความร่วมมือกันพัฒนาตำบลพันชาลีให้มีความโดดเด่น จุดเด่นที่น่าสนใจของตำบลพันชาลี เป็นการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้เป็นรูปธรรมให้แก่คนในชุมชนก็คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของตำบลที่เกิดจากการขับเคลื่อนร่วมกันของคนในชุมชน นอกจากนี้ อาชีพของคนในตำบลพันชาลี ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลเช่นกัน ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งทำให้ตำบลพันชาลีสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาในหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับตำบลอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จได้จริง
การจัดโครงการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้บูรณาการองค์ความรู้วิทยาการด้านต่างๆ ตลอดจนผลงานวิจัยและวิชาการจากมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างสอดคล้องเหมาะสม และตรงตามความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคมสำหรับคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษา นำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชนได้อย่างตรงประเด็น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความต้องการในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชน เผยแพร่ผลงาน พร้อมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีงาม และความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ภายในงานมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรและหน่วยงานเครือข่ายภายนอก จำนวน 25 จุดบริการ โดยมีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต เข้าร่วมกว่า 300 คน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ตำบลพันชาลี และผู้ที่สนใจในเขตพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีกิจกกรรมที่ให้บริการวิชาการต่างๆ ที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย อาทิ การเสริมทักษะพื้นฐานการเล่นฟุตซอล การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี การวาดภาพระบายสี การให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนชุมชน การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การให้คำปรึกษาด้านการแปรรูปผลผลิตต่างๆ การตลาดและการสร้างแบรนด์สินค้าชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน งานซ่อมบำรุงเบื้องต้น การให้ความรู้เกี่ยวกับโครงร่างกายมนุษย์ การให้บริการทางทันตกรรม การประเมินสุขภาพเบื้องต้น การคัดกรองโรคซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม การตรวจสายตา รวมทั้งกิจกรรมทางเทคโนโลยี
ภาพ/ข่าว : น.ส.ณัฐธยาน์ ดำสนิท นักศึกษาฝึกงานสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม