วันนี้ขอเสนอคำว่า ยุ่งยาก, ลงทุนเยอะ, รอนานกว่าจะได้เงิน, อดหลับ อดนอน, เสียสุขภาพจิต, ใช้สารเคมี, เหม็น, แหล่งเพาะพันธุ์ยุง, มีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น จากคำต่าง ๆ ที่นำเสนอข้างต้น เป็นคำที่ตัวแทนชาวบ้านตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เดิมทีเคยปลูกยาสูบและมีความหวังว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปจะส่งกลับมาบ้าง แต่ไม่เป็นไปตามที่หวัง
ในที่สุดเมื่อประมาณปี 2548 ผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้เริ่มขับเคลื่อนมองหาพืชทางเลือก เริ่มตั้งแต่ การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง, การปลูกโหระพา, ปลูกมะเขือ เพื่อนำผลผลิตที่ได้ส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารอซื้อ ถึงหัวบันไดบ้านทุกวันจนมาถึงปัจจุบัน (ปี 2563) สำหรับรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่าหลักพัน ส่วนรายได้ต่อเดือนนั้นก็ปาไปหลักแสน ขึ้นอยู่กับจำนวนเนื้อที่ของแต่ละครัวเรือน กำลังกายที่มาพร้อมกับความขยัน ยิ่งทำมากก็ได้มาก จึงทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ สามารถส่งเงินให้ลูกหลานเล่าเรียน บางคนคิดว่าชีวิตนี้คงจะไม่มีรถขี่ ก็มีรถขี่สมใจ
นอกจากนี้ ทุกคนล้วนบอกไปในทิศทางเดียวกันหลังเลิกปลูกยาสูบว่า ไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้ ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ เดินหน้าอย่างเดียว เพราะผลดีที่ได้กลับมาในการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง, ปลูกโหระพา คือ ไม่ยุ่งยาก, ลงทุนไม่เยอะ, ได้เงินสดเยอะ ได้เงินทุกวัน, ไม่เสียสุขภาพจิต, มีปัญหาสุขภาพลดลง, ไม่อดหลับ อดนอน, ไม่ต้องใช้สาร เคมีมาก เป็นต้น และที่น่าสนใจสำหรับความหวังของผู้บริโภคที่รักสุขภาพก็คือ เราอาจจะได้กินพืชผักที่ปลอดภัย ปลอดสารพิษ จากผู้นำท้องถิ่นที่จะมีการขับเคลื่อนกันต่อไปในอนาคต
และนี่เป็นเพียงแค่การประมวลข้อมูลส่วนหนึ่ง จากการลงพื้นที่ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จากการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการถอดบทเรียนคุณภาพชีวิต และความต้องการอาชีพเสริมหรือพืชทางเลือกของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบพันธุ์เบอร์เล่ย์ ในเขตภาคเหนือ เพื่อพัฒนางานวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบในประเด็นที่เฉพาะเจาะจงตามบริบทของภาคเหนือ เมื่อวันที่ 27 – 29 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีอีกหลากมิติที่เตรียมพร้อมนำเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป
ขอขอบคุณ
– นางฝ้ายคำ เหาะหา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
– นายบุญตา เทียมเพ็ง ประธาน ศ.พ.ก. ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
– นายชัยชาญ ทองวัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
– นายทวีศักดิ์ โสดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
– นางค้ำคูณ ทองวัน ประธาน อสม.หมู่ 11 ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
– ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
– ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มิได้กล่าวถึง ในการร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้