ผศ.ดร.กันตพัฒน์ อนุศักดิ์เสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ศึกษาวิจัย เรื่อง ประเมินภาวะซึมเศร้าในนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานจากการประกวดรางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่น งานประชุมวิชาการระดับชาติ “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในประเทศไทยจำนวนที่สูงมากกว่าที่คิดและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว
ผศ.ดร.กันตพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า จากการรายงานข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุข สื่อมวลชน พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าเฉลี่ย 10 คน ต่อ 1 วัน และจากการจัดอันดับประเทศที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดนั้นประเทศไทยติดอันดับที่ 3 รองจากประเทศญี่ปุ่น และสวีเดน
รวมถึงจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ที่ให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 โรคซึมเศร้าที่เคยติดอันดับ 2 จะขยับอันดับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ประกอบกับผลการศึกษาที่พบอีกว่า สามารถพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ตั้งแต่วัยเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไป จึงทำให้เป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว
สำหรับผลที่ได้จากการศึกษา เรื่อง ประเมินภาวะซึมเศร้าในนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ จากกลุ่มตัวอย่างการศึกษา 1,200 คน พบผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าแฝง 36% หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ ว่า ในนักศึกษาที่เดินมาด้วยกัน 3 คน จะมีอยู่ 1 คน ที่มีภาวะซึมเศร้าแฝง ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่สูง แต่ภาวะดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนากลายเป็นโรค
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าแฝงจะสามารถจางหายไปเป็นปกติได้ หากอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี มีอาจารย์คอยให้คำปรึกษา มีการสนับสนุนจากครอบครัวที่ดี มีผู้ให้การช่วยเหลือใส่ใจซึ่งกันและกัน ในอีกด้านหนึ่งตัวเองมีงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย ฟังเพลง หรือมีวิชาชีพและการงานที่มีความพึงพอใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.กันตพัฒน์ ได้กล่าวให้คำแนะนำว่า คนทั่วไปสามารถประเมินภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเองโดยการสังเกตว่าในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมามีอาการใน 9 ข้อนี้ บ่อยเพียงใด
1. เบื่อ ทำอะไรๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน
2.ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้
3. หลับยาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป
4. เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง
5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือเป็นคนทำให้ตัวเอง หรือครอบครัวผิดหวัง
7. สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานท่ีต้องใช้ความตั้งใจ
8. พูดหรือทำอะไรช้าจนคนอื่นมองเห็น หรือกระสับกระส่ายจนท่านอยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย
9. คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย
เมื่อประเมินแล้ว หากพบว่ามีอย่างน้อย 5 ข้อ ถือว่าเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าและสามารถที่จะพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยในเบื้องต้นแนะนำให้พูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัว หากไม่ดีขึ้นปรับตัวไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากทีมผู้รักษาที่จะทำงานกันเป็นทีม ประกอบไปด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด
ขอขอบคุณภาพจาก : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ติดตามข้อมูลข่าวสารคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพิ่มเติมได้ที่ : http://www.socsci.nu.ac.th/th/
และแฟนเพจ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร