สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ผู้กอบกู้เอกราช นอกจากพระปรีชาสามารถด้านการรบแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ทรงพระปรีชาสามารถไม่น้อยไปกว่าการรบ คือ การค้าและการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างเสริมความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในสมัยของพระองค์นับว่ามีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศได้นำมาซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบและบทบาทของอยุธยาต่อการค้าในด้านตะวันออกกับจีนและญี่ปุ่น และการขยายตัวทางการค้ากับตะวันตก โดยแบ่งบทบาทและการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจเป็น ๒ ด้าน คือ
ด้านที่ ๑ การค้ากับด้านตะวันออกโดยเฉพาะการค้ากับ จีน ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรบเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่เป็นรากฐานของยุทธปัจจัยในการรบก็คือรายได้ที่เกิดจากการค้าโดยเฉพาะการค้ากับจีนภายใต้ระบบบรรณาการ ในช่วงสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มีการติดต่อการค้ากับจีนในช่วงต้นรัชกาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๓๕ โดยมีการส่งเครื่องราชบรรณาการแก่องค์จักรพรรดิของจีนตามธรรมเนียม มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวรปรากฏในบันทึกของจีนทั้ง ๓ ฉบับ คือ
(๑) เจิ้งสือ หรือประวัติราชวงศ์ฉบับหลวง ซึ่งในส่วนว่าด้วยสยาม บันทึกตอนหนึ่งว่า
“กษัตริย์ผู้สืบราชสมบัติได้หมายมั่นจะแก้แค้นให้จงได้ ในระหว่างรัชศกว่านลี่กองทัพข้าศึกได้ยกทัพเข้ามาอีก กษัตริย์ได้จัดกองทัพเข้ากระหน่ำตีจนข้าศึกแตกพ่ายไปราบคาบ และได้ฆ่าราชโอรสของกษัตริย์ตงหมานหนิวด้วย จากนั้นเป็นต้นมา สยามก็ครองความยิ่งใหญ่พังงาในน่านน้ำทางทะเล…
…ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้าย่ำยีเกาหลีในโอกาสเดียวกันนี้ สยามได้เข้าถวายเครื่องราชบรรณาการ ราชทูตประเทศนี้ขออาสาส่งกองทัพเข้าช่วยทำศึกสงคราม”
(๒) สือลู่ หรือจดหมายเหตุประจำรัชกาล เช่นบันทึกตอนหนึ่งว่า
“เมื่อวันที่ ๓๑ เดือน ๑๐ ปีที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๑๓๕) แห่งรัชศกว่านลี่ ราชทูต แห่งประเทศสยามจำนวน ๒๗ คน ได้เดินทางไปนครหลวงเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ องค์จักรพรรดิทรงพระราชทานหมวกและสายคาดเอวตามธรรมเนียม
เมื่อวันที่ ๖ เดือนอ้าย ปีที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๑๓๖) แห่งรัชศกว่านลี่..มีฑูตบรรณการมาขออาสาต่อทางกลาโหมขอนำกองทัพช่วยศึกสงคราม…อันทูตบรรณาการแห่งสยามมีความโกรธแค้นต่อการกระทำที่ผิดทำนองครองธรรมนี้จึงได้แสดงความจงรักภักดีโดยอาสายกทัพไปช่วยรบ จักรพรรดิทรงมีพระบรมราชโองการให้ชมเชยความจงรักภักดีและเมตตาธรรมเช่นนี้”
(๓) เอกสารโบราณภาคเอกชน เช่น บันทึกทะเลตะวันออกและตะวันตกของจางเชี่ย ยกย่องว่า “รัชกาลพระนเรศวรนั้นสยามเริ่มเป็นผู้เกรียงไกรบนท้องทะเลแดนไกล ต่อแต่นั้นไปทำศึกสงครามทุกปีจนสามารถดำรงความเป็นใหญ่เหนือประเทศทั้งหลาย” 1
หลักฐานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยาทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งจะปกป้องการค้าในระบบรัฐบรรณาการที่ส่งเรือสำเภาหลวงของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาไปยังประเทศจีนได้บรรลุเป้าหมายด้วย
ด้านที่ ๒ การค้ากับตะวันตก ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรนั้นมีการค้ากับชาวต่างประเทศอาทิ การค้ากับสเปน สเปนได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อการค้ากับไทย โดยพยายามเผยแพร่ศาสนาและทำการค้าในแดนที่ชาวโปรตุเกสเคยติดต่อด้วย ประกอบกับสมเด็จพระนเรศวรสนพระทัยในการค้ากับสเปน โปรดให้มีหนังสือไปถึงข้าหลวงใหญ่สเปนที่กรุงมะนิลา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๓๗ ดังปรากฏในจดหมายจาก Don Francisco Tello ถวายพระเจ้า Philip ที่ ๓ ดังความว่า
“…ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยาม…ในพระราชสาส์นนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงประสงค์การพาณิชย์และการค้ากับหมู่เกาะเหล่านี้ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์)…โดยที่ได้เห็นว่าพระมหากษัตริย์องค์นี้โปรดเช่นนั้น ปีที่แล้ว (ค.ศ. ๑๕๙๘) ข้าพุทธเจ้าได้แต่งกัปตัน Juan Tello พร้อมคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามเป็นการตอบพระราชสาส์นโดยได้กล่าวถึงความนิยมชื่นชมอย่างใหญ่หลวง สำหรับพระราชไมตรีทรงแสดงต่อข้าพระพุทธเจ้าและความนิยมชมชื่นสำหรับพระราชปรารถนาที่จะให้ชาวสเปนค้าขายในราชอาณาจักร…กัปตัน Juan Tello ได้ออกเดินทาง (ไปสยาม) และเมื่อปฏิบัติการทูตสมบูรณ์แล้ว เขาได้ทำข้อตกลงด้วยว่า (สยาม) ควรเปิดเมืองท่าเมืองหนึ่ง สำหรับการค้าเพื่อให้ชาวสเปนสามารถไปเมืองนั้นได้และตั้งหลักแหล่งได้โดยอิสระ และได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งปวง” 2
พร้อมกันนั้นข้าหลวงใหญ่สเปนที่กรุงมะนิลาจึงได้ส่งผู้แทนเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๑๔๒ แต่ต่อมาความสัมพันธ์กับสเปนดำเนินอย่างไม่ราบรื่นทั้งกรณีการรบในเขมร ซึ่งสเปนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยและกรณีราชสำนักไทยต้องการปืนใหญ่ของพวกสเปน จนพวกสเปนตัดสินใจโยนปืนใหญ่ลงแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วกลับมางมเพื่อนำขึ้นมาบนเรือพร้อมทั้งเดินทางออกจากสยามโดยมิได้รับการอนุญาตจากกรมพระคลัง ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับสเปน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรือสเปนก็หลบหนีไปได้ แต่นาย Mendoza ทูตผู้นำมาได้รับบาดเจ็บจนถึงชีวิต ประกอบกับการค้ากับสเปนไม่มีกำไรมากนักจึงต้องชะงักไป 3
นอกจากสเปนแล้วในช่วงปลายรัชสมัยได้มีการติดต่อการค้ากับฮอลันดา โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ( Vereenigde Oost – Indische Compagnie : V.O.C.) เข้ามาเมืองไทยด้วยหวังอาศัยเรือสำเภาของหลวงราชสำนักอยุธยาไปค้าขายที่เมืองจีนและต้องการหาลู่ทางไปค้าขายที่เมืองจีนโดยตรง จึงส่งผู้แทนของบริษัทไปยังกรุงศรีอยุธยา ในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. ๒๑๔๗ พ่อค้าฮอลันดากลุ่มแรกที่มาถึงกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรได้นำปืนใหญ่ ๒ กระบอก มาเป็นเครื่องราชบรรณาการ สินค้าที่ V.O.C. นำเข้ามาเป็นครั้งแรกมีมูลค่า ๔ พันกิลเดอร์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงโปรดให้การรับรองอย่างดี แต่ฝันของ V.O.C. ที่จะอาศัยเรือสำเภาหลวงของราชสำนักอยุธยาไปเมืองจีนต้องสลายเพราะเกิดศึกพม่าและสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๔๘ ราชสำนักสยามต้องผลัดการส่งเรือสำเภาไปเมืองจีน จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ V.O.C. จึงได้เข้ามาตั้งสำนักงานการค้าที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๑ เพราะอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าของป่า ข้าว สินค้าจีน และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าของบริษัท4
ดังนั้นกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับการค้าและการขยายพระอำนาจทางเศรษฐกิจ รากฐานความเจริญของกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญอย่างมากเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้ากับประเทศจีน ตลอดจนการติดต่อการค้าทางด้านตะวันออกกับกลุ่มประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งในรัชสมัยต่อมาได้ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ส่งออกของป่า ได้แก่ หนังกวาง เพื่อทำชุดเกราะ ซามูไร แต่เพียงรายเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และภายหลังกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ส่งออกปืนใหญ่และดินปืนให้กับกองกำลังโชกุนและไดเมียวของญี่ปุ่น พร้อมกันนั้นการขยายตัวด้านการค้ากับฮอลันดาได้นำไปสู่การบุกเบิกการค้าและการตั้งสถานีการค้าในประเทศไทยซึ่งนำมาสู่การรับรู้การส่งออกสินค้าจำนวนมากจากภายในทวีปผ่านกรุงศรีอยุธยาไปยังหัวเมืองต่าง ๆ จนเกิดการเชื่อมโยงการค้าทางทะเลผ่านเมืองเพชรบุรี มะริด และตะนาวศรี เรื่องราวของการขยายตัวทางการค้าทางทะเลได้ส่งผลให้เป็นความทรงจำและความรับรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่อเรือที่เรียกกันว่า ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้นอกจากจะเป็นช่วงเส้นทางเอกราชและขยายอำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครองและการสงครามแล้ว สภาพเศรษฐกิจก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่ามีความมั่นคงและเป็นรากฐานของเศรษฐกิจกรุงศรีอยุธยาในระยะเวลาต่อมาในฐานะเมืองท่าและสถานีการค้าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ้างอิง
1 ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี. “ความสัมพันธ์ไทย – จีน ในรัชสมัยพระนเรศวรมหาราช” ใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 400 ปี ของการครองราชย์. 2540. หน้า 51 – 54.
2 จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน. (กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์) 2532 หน้า 62 – 63.
3 สมโชติ อ๋องสกุล. ข้อมูลตรวจใหม่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. หน้า 80.
4 ธีรวัต ณ ป้อมเพชร. “หลักฐานตะวันตกเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 400 ปี ของการครองราชย์. 2540 หน้า 34 – 37.
บทความโดย: ผศ.ดร. วศิน ปัญญาวุธตระกูล
เรียบเรียง: ธิติ สิงห์คง
ภาพประกอบ: นเรศ เอี่ยมอินทร์
NEWS: 0284