วันที่ 20 มีนาคม 2562 มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะเภสัชศาสตร์ จัดงานแถลงข่าว สถานการณ์การมีกัญชาในครอบครองเพื่อทำการวิจัย ณ สถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ชั้น 3 โซน A อาคารมหาธรรมราชา มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้มีการแถลงข่าวในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
– ทิศทางงานวิจัยกัญชาในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับกัญชา โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และ
รศ.ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์
– งานวิจัยกัญชากับบทบาทนักวิจัย โดย รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ และ รศ.ดร.ภญ.กรกนก อิงคนินันท์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ภญ.ทัศนา พิทักษ์สุธีพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ และ ผศ.ดร.ภก.ปิยะเมธ ดิลกธรสกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เริ่มทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาตั้งแต่ปี 2561 และมีการขอใบอนุญาตครอบครอง และผลิตสารสกัดกัญชาโดยได้รับความอนุเคราะห์วัตถุดิบจาก บชปส. นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจากหลายคณะพร้อมที่จะเข้ามาทำงานในลักษณะบูรณาการ เพื่อวิจัยและพัฒนากัญชาและกัญชง ให้สู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.กรกนก อิงคนินันท์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำร่องในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจากกัญชา/กัญชง โดยขณะนี้
มีงานวิจัยดังนี้
1. การพัฒนาแผ่นแปะผิวหนังที่ตอบสนองต่ออุณหภูมิที่มีส่วนผสมจากสารสกัดกัญชา (ได้รับทุนงบประมาณแผ่นดิน) โดย รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์, ดร.ประภาพรรณ เต็มกิจถาวร และ รศ.ดร.เนติ วระนุช
2. โครงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยา: การพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดสำหรับใช้แก้ปวดในรูปแบบการบริหารยาใต้ลิ้น โดย รศ.ดร.เนติ วระนุช และคณะ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ทุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS)
3. โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาอาการผิดปกติทางผิวหนัง” โดย รศ.ดร.เนติ วระนุช และคณะ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี
4. โครงการการพัฒนาวิธีการแยกสารและจัดทำสารมาตรฐานแคนนาบินอยด์จากกัญชา โดย รศ.ดร. กรกนก อิงคนินันท์, ดร.ประภาพรรณ เต็มกิจถาวร และ ดร.นิทรา เนื่องจำนงค์ กำลังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติทุนการวิจัย จากองค์การเภสัชกรรม
5. โครงการบูรณาการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้รับอนุมัติในหลักการของทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และกำลังรอการขอใบอนุญาตครอบครองกัญชง และขออนุเคราะห์ความร่วมมือในการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยจะมีการวิจัยตั้งแต่การสำรวจสายพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพของกัญชง การพัฒนาการปลูกในระบบปิด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาวิธีการสกัด การจัดเตรียมสารสกัดกัญชงมาตรฐานที่มีสาร CBD สูง และการควบคุมคุณภาพสารสกัดและวัตถุดิบกัญชง การทดสอบฤทธิ์ต้านอักเสบและแก้ปวดในสัตว์ทดลอง รวมทั้งการศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง การศึกษาทาง เภสัชจลนศาสตร์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อการใช้ประโยชน์ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
(1) ผลิตภัณฑ์อมใต้ลิ้นสารสกัดกัญชงสำหรับใช้แก้ปวด
(2) แผ่นปิดแผลไฟโบรอินผสมแคนนาบิไดออลจากกัญชงสำหรับรักษาแผลที่หายช้า
(3) ผลิตภัณฑ์ impregnated gauze ที่มีสารสกัดกัญชงทำความสะอาดช่องปากสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก
โดยมีคณะผู้ร่วมวิจัยทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์เอง คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร
6. Systematic review และ Meta-analysis ของปัจจัยที่มีผลต่อการลดความปวดของกัญชา โดย เป็นวิทยานิพนธ์ ปริญญาโทของนิสิตหลักสูตร เภสัชเคมีและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ Mr.Karma Rabgay ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์, ผศ.ดร.ปิยะเมธ ดิลกธรสกุล, รศ.ดร.เนติ วระนุช และ รศ.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์
7. โครงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดย รศ.ดร.ณธร ชัยยาคุณาพฤกษ์ กำลังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติทุนการวิจัย จาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
8. การศึกษาการพัฒนาแบบจำลองเชิงสรีรวิทยาของสารแคนนาบินอยด์ โดย รศ.ดร.มนุพัศ โลหิตนาวี
งานวิจัยที่ทำอยู่ในขณะนี้ คือ การพัฒนาวิธีเตรียมสารสกัดกัญชามาตรฐาน เพื่อให้มีทั้ง THC และ CBD ในปริมาณที่เหมาะสม การพัฒนาวิธีการแยกและวิเคราะห์สาร cannabinoids ศึกษาการควบคุมคุณภาพของสารสกัดตลอดจนการตั้งตำรับเภสัชภัณฑ์ต้นแบบทั้งในรูปอมใต้ลิ้น และใช้ภายนอก ซึ่งจะทำให้ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดสำหรับการศึกษาวิจัยขั้นต่อไป เมื่อประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพ ก็สามารถนำวัตถุดิบนั้น มาสกัดโดยวิธีที่พัฒนาขึ้นและตั้งตำรับเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ศึกษาวิจัยด้านอื่นๆ เช่น การพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นได้