ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดระบบ และข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจร และกำหนดนโยบายป้องกันและการบังคับใช้กฎต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้น นอกจากนี้อัตราการฝ่าฝืนกฎจราจรในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เกินอัตรากำลังของตำรวจจราจร ที่จะสามารถดำเนินการดูแลและป้องกันได้อย่างครอบคลุม
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และรศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หัวหน้าโครงการระบบจ่าเฉยอัจฉริยะ พร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ ได้กล่าวว่า ระบบดังกล่าว จะทำหน้าที่บันทึกภาพการจราจร และออกใบสั่งให้อัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและภาระงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ในการออกใบสั่งแก่ผู้ขับขี่ที่กระทำผิดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนมากและเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่ยากต่อการออกใบสั่งเพราะจะส่งผลกระทบให้สภาพการจราจรแย่ลงกว่าเดิม
ปัจจุบัน จ่าเฉยอัจฉริยะฯ ได้มีการติดตั้งใช้งานจริงในหลายพื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมีการขยายผล ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 กองบังคับการตำรวจแถลงต่อสื่อ ว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องจับรถเปลี่ยนช่องทางกระทันหัน หรือกล้อง Lane Change ตรวจจับการขับรถปาดเบียดทางขึ้นสะพานและอุโมงค์ลอดทางแยก เพิ่ม 15 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และจากการประมูล ในโครงการติดตั้ง Lane Change ของ บกจร. ซึ่งมีการประมูลแข่งขัน โดยใช้เทคโนโลยีของประเทศเยอรมันและแคนาดาร่วมด้วย ผลปรากฎว่า จ่าเฉยอัจฉริยะฯ ชนะการประมูล เนื่องจากเป็นระบบที่มีความแม่นยำมากที่สุด การประมวลภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแม้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากต่อการอ่านป้ายทะเบียน ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณของโครงการดังกล่าวไปกว่า 15 ล้านบาท ลดการรั่วไหลเงินตราต่างประเทศและลดการนำเข้า ได้เป็นอย่างมาก
News: 0419