ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระยะสั้น โครงการ JENESYS2017 Composite 5th Social Peace Building Exchange

ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระยะสั้น
โครงการ JENESYS2017 Composite 5th Social Peace Building Exchange
ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-28 มีนาคม 2561
โดย นางสาวชุติมันต์ พิสิษฐ์ธนาดุล นิสิตชั้นปีที่2 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาพม่าศึกษา

————————————————–

         โครงการ JENESYS 2017 (Japan – East Asia Network of Exchange for Student and Youth) Composite 5th Social Peace Building Exchange เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยองค์กร Japan International Cooperation Center (JICE) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชน ส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำ รวมทั้งความสนใจด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเยาวชนอาเซียนและญี่ปุ่น โครงการนี้มีเยาวชนจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ รวมทั้งเยาวชนจากประเทศอินเดียและติมอร์เลสเต เข้าร่วมด้วย จำนวนรวม 96 คน ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนไทยจำนวน 8 คนได้รับโอกาสให้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนจากชาติอื่นๆ เป็นระยะเวลา 9 วัน

         กิจกรรมวันแรกมีการปฐมนิเทศถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ชี้แจงรายละเอียดกิจกรรม รวมถึงบอกข้อมูลที่ควรทราบในการใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างละเอียด จากนั้นในวันถัดมาก็เดินทางไปที่เมืองนางาซากิซึ่งเป็นเมืองที่เป็นเมืองสุดท้ายของโลกที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

         ที่เมืองนางาซากิ ได้มีการไปทัศนศึกษาตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น สวนโกลฟเวอร์ โบสถ์โอระ สวนสันติภาพนางาซากิ พิพิธภัณฑ์ปรมาณูนางาซากิ เดจิมะ เป็นต้น จากการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆเหล่านี้ได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใหญ่จากพิษสงครามโลกที่นางาซากิ ได้สะท้อนไปถึงคนทั่วโลกให้ได้รับรู้ถึงภัยจากความรุนแรงในสงครามที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เพียงแต่บ้านเมืองแต่ยังเป็นชีวิตจิตใจของผู้บริสุทธิ์ด้วย การที่นางาซากิยังคงรักษาสภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลายต่างๆนี้ไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม ไม่ใช่เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวด แต่ยังเป็นการเตือนใจให้โลกได้รับรู้ว่า ความรุนแรงไม่ได้นำมาซึ่งชัยชนะ แต่สันติภาพต่างหาก ที่นำมาซึ่งความสุขสงบที่แท้จริง

         นอกจากการทัศนศึกษาแล้ว ยังมีกิจกรรมการอภิปรายกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการจากทั้ง12ประเทศ โดยจะแบ่งเยาวชนออกเป็น4กลุ่ม เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามหัวข้อที่ได้รับ โดยกลุ่มของดิฉันได้รับหัวข้อเรื่อง บทบาทเยาวชนในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในเชิงสันติภาพ กิจกรรมนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าแต่ละประเทศล้วนแต่ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น แต่ละประเทศก็มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันออกไป และในฐานะของเยาวชน เราสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆนี้ได้ เพียงเริ่มจากตัวเรา ใช้สิ่งที่เรามี ทำในสิ่งที่เราทำได้ เช่น ใช้ความรู้ในเรื่องที่เรียนเผยแพร่ลงในสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อกระจายโอกาสและความรู้สู่ผู้ที่ด้วยโอกาสกว่า เป็นต้น

         จากการเข้าร่วมโครงการ JENESYS นอกจากได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆของประเทศญี่ปุ่นที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดและสวยงามอย่างน่าทึ่งแล้ว ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนๆต่างชาติจากทั้ง11ประเทศ ได้เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ๆ ถือได้ว่าเป็นระยะเวลา9วันที่ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ มิตรภาพ ความทรงจำและได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ที่สำคัญที่สุด โครงการ JENESYS ทำให้รู้ว่าพลังเยาวชนเข้มแข็งมากพอที่จะพัฒนาโลกของเราให้สวยงามมากขึ้นได้ และความแตกต่างไม่ได้ทำให้เราแตกแยก เพียงแค่ทุกคนเปิดใจที่จะเรียนรู้ และยอมรับอย่างเข้าใจ เพียงเท่านี้โลกของเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

——————————————————–

บทความโดย : นางสาวชุติมันต์ พิสิษฐ์ธนาดุล
นิสิตชั้นปีที่2 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาพม่าศึกษา

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon