เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 สถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัว “หน่วยให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเจรจาการค้า เพื่อการส่งออก-นำเข้าทางอุตสาหกรรมเกษตรสมุนไพร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานในสถานประกอบการของอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมสมุนไพร ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดได้รับการพัฒนาภาษา อย่างรวดเร็วด้วยตนเอง โดยใช้ชุดเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นในโครงการนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมบริการ ได้รับการพัฒนาทางด้านภาษาในการค้า อาทิ การทำสัญญาการค้า บทสนทนาในการเจรจาธุรกิจ การเขียน e-mail และการนำเสนองาน การแปลฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกรรมในระดับโลก เป็นต้น และที่สำคัญคือมีหน่วยที่ปรึกษาดิจิทัลที่แนะนำในการช่วยจัดทำเอกสารผลิตภัณฑ์และบริการเป็นภาษาอังกฤษ อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายโอกาสทางด้านการตลาดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน ณ โรงแรมแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.พรชุลี อาชวอำรุง ผู้อำนวยการสถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้สร้างชุดเครื่องมือทางด้านภาษา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจสมุนไพร และกำหนดกระบวนการฝึกอบรมเครื่องมือประเมินผลตามตัวชี้วัด และทดลองใช้เครื่องมือต่างๆ แล้วจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการนำร่อง 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมจัดกิจกรรมเปิดตัวหน่วยให้คำปรึกษาทางด้านภาษา เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเจรจาด้านการค้าในอุตสาหกรรมเกษตรและสมุนไพร เพื่อขยายผลใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงใหม่ และน่าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการฝึกอบรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และจัดการอบรมไปแล้วใน 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี ได้รับการตอบรับดีมาก ผู้รับการฝึกอบรมประเมินว่าชุดเครื่องมือมีประโยชน์มาก และตรงตามความต้องการ สามารถแปลฉลากผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้มั่นใจในการสนทนากับลูกค้าต่างชาติ การร่วมงาน แสดงสินค้าในต่างประเทศ และเข้าใจการทำสัญญาทางการค้าอย่างถูกต้อง แม่นยำ และได้แนวทางที่รัดกุมตามกฎหมาย ทั้งยังมีโอกาสสร้างเครือข่ายในกลุ่มประกอบการเกษตรสมุนไพรในภาคเหนือด้วย
ทั้งนี้หน่วยให้คำปรึกษา ยังทำหน้าที่เป็น Clearinghouse ประมวลการใช้ภาษาอังกฤษ ด้านการเขียนเอกสารธุรกรรม สัญญา การเจรจาการค้า การสนทนาในการบริการและต้อนรับ การแปลฉลากผลิตภัณฑ์ แผ่นพับ และการออกแบบให้ตรงตามวัฒนธรรมของตลาดเป้าหมาย ทั้งด้าน What How และ Why และมีบทบาทเป็นเครือข่ายของสมาชิกผู้รับบริการจากหน่วยให้คำปรึกษา และทำหน้าที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังประมวลผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และใช้ได้จริงโดยสมาชิก ในลักษณะ Testimonials เพื่อเป็นศูนย์ข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรสมุนไพรบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐบาล จังหวัด มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้ประกอบการ
News : 0313