ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีการเรียนการสอนในรายวิชาปรสิตวิทยาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่เป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโท และปริญญาเอกของหลักสูตรสาขาวิชาปรสิตวิทยา โดยได้มีการจัดสัมมนาพิเศษ เพื่อมุ่งเน้นให้นิสิตมีความรู้ทั้งพื้นฐาน และมีแนวคิดที่จะก้าวไปสู่การทำวิทยานิพนธ์ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตัวนิสิต ทันสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด โดยได้รับเกียรติจาก พ.อ. ศ. มฑิรุทธ มุ่งถิ่น จากภาควิชาปรสิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ที่มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อดื้อยามาลาเรียของประเทศไทย ณ ห้อง MD 417 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์ของเชื้อดื้อยามาลาเรียของไทยนั้น พ.อ. ศ. มฑิรุทธ มุ่งถิ่น จากภาควิชาปรสิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เล่าให้ฟังว่า การดื้อยามาลาเรียในประเทศไทยมีสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงมาก ถึงมากที่สุดซึ่งการดื้อยาของมาลาเรียมีการพัฒนาอย่างมาก และอาจจะมีปัญหาเรื่องการคุมมาลาเรีย ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ การใช้ยามาลาเรียในประเทศไทยถูกกำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและข้อมูลของประเทศเพื่อที่จะกำหนดยาที่เหมาะสมที่สุดในการใช้รักษาโรคมาลาเรียในประเทศไทย แต่ปัญหาก็คือเมื่อประชาชนเป็นโรคมาลาเรียแล้วจะต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เป็นโรคมาลาเรีย โดยส่วนใหญ่ประเทศไทยจะพบว่า การติดเชื้อโรคมาลาเรียมาจากในป่าหรือข้างๆ ป่า ซึ่งก็สามารถป้องกันตัวเองได้ ในช่วงกลางคืนก็จะต้องใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และทายาป้องกัน
การที่ได้มีโอกาสมาเป็นวิทยากรให้กับนิสิตในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองให้นิสิตได้เห็นว่ามีงานวิจัยทางด้านโรคติดเชื้อปรสิตในลักษณะดังกล่าว ตอนนี้โรคที่กำลังเป็นที่น่าสนใจ เช่น โรคที่ปัจจุบันคนไทยน่าจะรู้ว่า มีในประเทศไทยด้วย ก็คือโรคลิชมาเนีย ซึ่งปกติประเทศไทยไม่มี แต่ว่าในปัจจุบัน 10 กว่าปีที่ผ่านมามีหลักฐานว่าเป็นโรคที่ติดในประเทศไทย และอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวรก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับพาหะของโรคนี้ด้วย ซึ่งนิสิตหรือประชากรทั่วไปก็ยังไม่ได้ตระหนักว่าโรคดังกล่าวมีความสำคัญในประเทศ
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : พ.อ. ศ. มฑิรุทธ มุ่งถิ่น จากภาควิชาปรสิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก : Facebook คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร