เปลือกกล้วยและก้านเครือกล้วย เป็นสิ่งที่เหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งในจังหวัดพิษณุโลกมีมากในอำเภอบางกระทุ่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้ามากกว่า 400,000 ไร่ สำหรับทำกล้วยตาก ได้ผลผลิตกว่า 7,000 ตันต่อไร่ จากกระบวนการ แปรรูปกล้วยดังกล่าวก่อให้เกิดเปลือก หวี และก้านเครือกล้วยเหลือทิ้งซึ่งเป็นขยะประมาณ 30-50 ตัน ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เช่น ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือถ้าแห้งก็จะมีการนำมาเผาทำให้เกิดควันตามมา โดยขยะเหล่านี้องค์การบริหารส่วนตำบลต้องใช้งบประมาณในการจัดการ 150 บาทต่อตันต่อวัน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 10,500-22,500 บาทต่อวัน
รองศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ โม้พวง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ริเริ่มโครงการ การผลิตถ่านและถ่านกัมมันต์จากเปลือกกล้วยและก้านเครือกล้วย เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะนำ เปลือก หวี และก้านเครือกล้วย ที่สามารถใช้ผลิตถ่านและถ่านกัมมันต์ได้ สามารถนำมา เพิ่มคุณค่าด้วยการเผาในสภาพไร้ออกซิเจนที่อุณหภูมิ 400-800 องศาเซลเซียส จะทำให้ได้ถ่าน ที่สามารถทำเป็นเชื้อเพลิงในการอบแห้งเปลือกกล้วย เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตใยอาหาร และเซลลูโลสผง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากกล้วยครบวงจร นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็น ถ่านกัมมันต์ที่มีความพรุนสูง โดยการกระตุ้นด้วยหลายวิธี ได้แก่ กระตุ้นด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ หรือกรดฟอสฟอริกในสัดส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ถ่านกัมมันต์ ที่ได้อาจนำไปเป็นตัวดูดซับสารต่างๆ ในน้ำเพื่อผลิตเป็นน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานหรือใช้บำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตถ่านจากเปลือกกล้วยและเครือกล้วยยังได้น้ำส้มควันไม้มาใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย
หากท่านใดที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติ่ม สามารถติดต่อได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 3119
————————————————–
News: 162