นักวิจัย ม.นเรศวรตระหนักการเคารพในสิทธิของอาสาสมัครตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสากล

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร แนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice : GCP)  เพื่อพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน และบุคลากรที่ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกป้องความปลอดภัย และเคารพในสิทธิของอาสาสมัครตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสากล ทั้งงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และงานวิจัยทางคลินิกที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการวิจัยได้อย่างถูกต้อง  โครงการดังกล่าวจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งการอบรมจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2560 ณ ห้องประชุมสัมมนาเอกาทศรถ 9 ชั้น 3 อาคารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน และนักวิจัยในเครือข่ายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึง โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร แนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice : GCP)ว่าการฝึกอบรมครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นการฝึกอบรมที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบัน และบุคลากรที่ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกป้องความปลอดภัย และเคารพในสิทธิของอาสาสมัครตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสากล ทั้งงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ และงานวิจัยทางคลินิกที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการวิจัยได้อย่างถูกต้อง 

“การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะผลักดัน ให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบัน หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามมาตรฐานสากล ซึ่งนำไปสู่งานวิจัยที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ” รองศาสตราจารย์ ดร.สุขกิจ กล่าว 

ด้านนายแพทย์สมบูรณ์ ตันสุภสวัสดิกุล ประธานกรรมการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ว่า  ในการทำวิจัยให้ได้มาตรฐานสากล กระบวนการให้ข้อมูลแก่อาสาสมัคร และการเชิญชวนให้ เข้าร่วมโครงการวิจัย มีความจำเป็นต้องกระทำอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยไม่ใช่เป็นการบีบบังคับให้อาสาสมัครเข้าโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้อาสาสมัครรับทราบกระบวนการทำวิจัย หรือไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัดสินใจ เช่น ผู้ทำวิจัยนำวิธีการรักษาใหม่มาทดลองใช้กับผู้ป่วยโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือการอธิบายกระบวนการวิจัยโดยใช้ภาษาทางวิชาการที่เป็นศัพท์เทคนิคมากเกินไปจนเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะเข้าใจได้ เป็นต้น ดังนั้น งานวิจัยใดที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ทั้งสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและสายสังคมศาสตร์ นักวิจัยจะต้องเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยเสนอแก่คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อช่วยพิจารณางานวิจัยดังกล่าวเป็นไปตามหลักจริยธรรมหรือไม่   

 

news 0088

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon